Transport

ฟังเสียง “ชาวพังงา-สุราษฎร์” สำรวจออกแบบสร้าง 4 เลน ทล.401 สายแยกโคกเคียน-เขาสก 32.50 กม.

ฟังเสียงชาวพังงา-สุราษฎร์ธานี โครงการสำรวจและออกแบบ 4 เลน ทล.401 สายแยกโคกเคียน-เขาสก 32.50 กม. พร้อมจัดประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 สรุปผลศึกษา ก.พ.67 เพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งพื้นที่ภาคใต้ สะดวก-ปลอดภัย

วันนี้ (6 ก.ย.2566) เวลา 09.00 น. ณ ศาลาประชาคมที่ว่าการอำเภอตะกั่วป่า อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา กรมทางหลวง (ทล.) ได้จัดการประชุมสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ (การสัมมนา ครั้งที่ 2) โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร บนทางหลวงหมายเลข 401 สายแยกโคกเคียน-เขาสก เพื่อนำเสนอสรุปผลการพิจารณารูปแบบทางเลือกการพัฒนาโครงการที่เหมาะสม และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการพัฒนาโครงการ พร้อมทั้งเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยได้รับเกียรติจากนายไตรทิพย์ สกุลประดิษฐ์ นายอำเภอตะกั่วป่า เป็นประธานเปิดการประชุม และมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุม

การประชุมในครั้งนี้ ที่ปรึกษาโครงการฯ ได้นำเสนอสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการฯ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่บริเวณแยกโคกเคียน อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา บนทางหลวงหมายเลข 401 ประมาณ กม.0+000 และมีจุดสิ้นสุดบริเวณ กม.32+500 บนทางหลวงหมายเลข 401 ต.คลองศก อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี รวมระยะทาง 32.50 กิโลเมตร

ครอบคลุมพื้นที่ จ.พังงา และ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งแบ่งเป็น 5 พื้นที่ ประกอบด้วย 1.พื้นที่ชุมชน 2.พื้นที่ราบสลับเนินเขา 3.พื้นที่ต้นหางนกยูงควนปัก 4.พื้นที่ต้นตะแบก และ 5.พื้นที่ภูเขาสูงชัน โดยการพิจารณารูปแบบถนนโครงการ ที่ปรึกษาโครงการฯ ได้พิจารณาสภาพภูมิประเทศและสภาพพื้นที่ของทางหลวงในปัจจุบัน พบว่า สภาพพื้นที่มีความแตกต่างกัน เช่น บางช่วงผ่านเขตชุมชน บางช่วงผ่านภูเขา เป็นต้น ดังนั้นจึงคัดเลือกรูปแบบที่เหมาะให้สอดคล้องกับลักษณะภูมิประเทศและสภาพชุมชนโดยพิจารณาครอบคลุมทั้งด้านวิศวกรรมจราจร ด้านเศรษฐกิจการลงทุน และด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม สรุปดังนี้

พื้นที่ที่ 1 พื้นที่ชุมชน ประมาณ กม.0+000 ถึง กม.2+450 เป็นถนนเดิม 4 ช่องจราจร แบ่งทิศทางการจราจรด้วยเกาะกลางแบบยก (Raised Median) กว้างประมาณ 5.10 ม. ความกว้างช่องจราจรละ 3.50 ม. ไหล่ทางกว้าง 2.50 ม. ส่วนช่วงพื้นที่ชุมชนรมณีย์ ช่วง กม.20+275 ถึง กม.23+600 จะปรับปรุงเป็นทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร แบ่งช่องจราจรด้วยเกาะกลางแบบยก (Raised Median) กว้างประมาณ 5.10 ม. ความกว้างช่องจราจรละ 3.50 ม. ไหล่ทางกว้าง 2.50 ม.เช่นเดียวกัน

พื้นที่ที่ 2 พื้นที่ราบสลับเนินเขา ประมาณ กม.2+450 ถึง กม.5+800 ประมาณ กม.9+800 ถึง กม.20+275 และประมาณ กม.23+600 ถึง กม.26+500 เลือกรูปแบบทางเลือกที่ 1 เกาะกลางกำแพงคอนกรีต (Barrier Median) มีความเหมาะสมมากที่สุด ซึ่งทำให้การขับขี่มีความปลอดภัยสูง ช่วยลดระดับความรุนแรงของอุบัติเหตุได้ การก่อสร้างทำได้ง่ายกว่าโดยชั้นทางใหม่สามารถเชื่อมต่อกับชั้นทางเดิมได้เลย ระยะเวลาในการก่อสร้างสั้นกว่าทำให้ค่าก่อสร้างและค่าบำรุงรักษาต่ำสุด

พื้นที่ที่ 3 พื้นที่ต้นหางนกยูงควนปัก ประมาณ กม.5+800 ถึง กม.8+050 เลือกรูปแบบทางเลือกที่ 2 การขยายถนนออกทั้ง 2 ฝั่งทาง มีความเหมาะสมมากที่สุด ซึ่งทำให้การขับขี่มีความปลอดภัยสูง โดยการตัดต้นไม้ที่มีกิ่งเปราะออกและใช้เกาะกลางแบบกำแพงคอนกรีต ช่วยลดระดับความรุนแรงของอุบัติเหตุได้ การก่อสร้างทำได้ง่ายกว่า และชั้นทางใหม่สามารถเชื่อมต่อกับชั้นทางเดิมได้เลย ทำให้มีค่าบำรุงรักษาต่ำ

พื้นที่ที่ 4 พื้นที่ต้นตะแบก ประมาณ กม.8+050 ถึง กม.9+800 เป็นรูปแบบถนนขนาดทางหลวง 4 ช่องจราจร มีการก่อสร้างคันทางใหม่ทางด้านซ้ายทาง 2 ช่องจราจร และแบ่งทิศทางการจราจรด้วยเกาะกลางแบบร่อง กว้างประมาณ 12.55 เมตร ความกว้างช่องจราจรละ 3.50 ม. ไหล่ทางกว้าง 2.50 ม. เพื่อไม่ให้มีการรื้อถอนต้นไม้เดิมในพื้นที่ ส่วนถนนเดิม 2 ช่องจราจร มีการปรับปรุงผิวทางและเครื่องหมายจราจรบนผิวทาง เพื่อรองรับปริมาณจราจรในทิศทางมุ่งหน้าสู่ จ.ภูเก็ต

พื้นที่ที่ 5 พื้นที่ภูเขาสูงชัน ประมาณ กม.26+500 ถึง กม.32+500 และมีการออกแบบโครงสร้างป้องกันดินแบบพิเศษทั้งฝั่งเหวและฝั่งภูเขาเบื้องต้น3รูปแบบเพื่อเลือกใช้ตามความเหมาะสมของพื้นที่ ประกอบด้วย รูปแบบที่ 1 มีการขยายถนนออกไปทั้งทางด้านซ้ายทางและขวาทาง รวม 4 ช่องจราจร เกาะกลางแบบกำแพงคอนกรีต ฝั่งพื้นที่ภูเขาที่มีการตัดเขาจะมีการออกแบบป้องกันเชิงลาดตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ส่วนทางด้นฝั่งเหวที่มีการถมดินจะใช้โครงสร้างกำแพงกันดินแบบ Retaining Wall รูปแบบที่ 2 คล้ายกับรูปแบบที่ 1 แต่โครงสร้างด้านฝั่งเหวที่มีการถมดินจะใช้โครงสร้างกำแพงกันดินแบบ Reinforced Soil Slope Wall และรูปแบบที่ 3 มีการก่อสร้างโครงสร้างสะพานขยายไปทางฝั่งที่เป็นพื้นที่เหว จำนวน 2 ช่องจราจร ร่วมกับการปรับปรุงผิวจราจรและโครงสร้างคันทางเดิม

สำหรับรูปแบบการพัฒนาจุดตัดทางแยก ที่ปรึกษาดำเนินการสำรวจสภาพพื้นที่และทำการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อออกแบบรายละเอียดทางแยก 2 ตำแหน่ง ได้แก่

จุดตัดทางหลวงหมายเลข 4 (แยกโคกเคียน) ใช้รูปแบบทางเลือกที่ 3 เป็นรูปแบบวงเวียน มีสะพานยกระดับ 1 ทิศทาง เนื่องจากมีความเหมาะสมทั้งด้านเศรษฐกิจและการเงินเพราะมีค่าการลงทุนน้อย และใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างน้อยกว่ารูปแบบอื่น ทำให้เกิดผลกระทบน้อยสุด

จุดตัดทางหลวงหมายเลข 4090 (แยกป่าไม้) ใช้รูปแบบทางเลือกที่ 3 ซึ่งมีความเหมาะสมที่สุด มีความปลอดภัยสูง ค่าลงทุนก่อสร้างถูกเพราะใช้โครงสร้างสะพานน้อยกว่า โดยจะก่อสร้างเป็นถนนระดับดิน (At Grade) ในทิศทางตรง ส่วนการจราจรในทิศทางเลี้ยวขวาจากทางหลวงหมายเลข 4090 ไปทางหลวง 401 ใช้ทางลอดใต้สะพานบกในแนวทางหลวงหมายเลข 401 และจากทางหลวงหมายเลข 401 ไปทางหลวงหมายเลข 4090ใช้สะพานกลับรถ (U-tum Bridge) ข้ามทางหลวงหมายเลข 401 ซึ่งการจราจรในทุกทิศทางสามารถเคลื่อนตัวได้อย่างอิสระ (Free Flow) ไม่ติดสัญญาณไฟจราจร

ภายหลังการประชุมครั้งนี้ กรมทางหลวง จะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนนำมาพิจารณาประกอบการศึกษาและรายละเอียดของโครงการให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งจะดำเนินการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อประชาสัมพันธ์รายละเอียดข้อมูลโครงการไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่โครงการได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง

โดยมีกำหนดจัดการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 ในช่วงประมาณเดือน ธ.ค.2566 และกำหนดจัดประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 3) ในช่วงประมาณเดือน ก.พ.2567 เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาในทุกด้านให้ประชาชนได้รับทราบรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินงานต่อไป

โดยผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดของโครงการฯ ได้ 2 ช่องทาง ได้แก่ 1.เว็บไซต์ www.แยกโคกเคียน-เขาสก.com 2.Line Official : @711tufmd

Loading

Back to top button