ยกระดับ! สะพานข้ามจุดตัดทางรถไฟ ถนนสาย ปข.1003 @ประจวบคีรีขันธ์
กรมทางหลวงชนบท สร้างสะพานข้ามทางรถไฟบนถนนสาย ปข.1003 จ.ประจวบคีรีขันธ์ เสร็จสมบูรณ์ เพิ่มศักยภาพการแก้ปัญหาอุบัติเหตุอย่างยั่งยืน ยกระดับความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน พร้อมรองรับรถไฟทางคู่ในอนาคต
กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ระบุว่า ดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ จุดตัดทางรถไฟกับถนนทางหลวงชนบทสาย ปข.1003 แยก ทล.4-บ้านโพธิ์เรียง อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เสร็จสมบูรณ์
ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกระดับความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน แก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุในระยะยาว รวมทั้งเป็นการสนับสนุนโครงการรถไฟทางคู่ของกระทรวงคมนาคมในอนาคต ตามนโยบายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ปัจจุบันถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทช. ที่มีจุดตัดผ่านทางรถไฟมี จำนวน 153 แห่ง สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ จุดตัดทางรถไฟกับถนนทางหลวงชนบทสาย ปข.1003 แยก ทล.4-บ้านโพธิ์เรียง อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นหนึ่งในโครงการที่อยู่บนถนนที่มีจุดตัดผ่านทางรถไฟ ซึ่งในอดีตบริเวณถนนทางหลวงชนบทสาย ปข.1003 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง
ทช. จึงได้ดำเนินการปรับปรุงจุดตัดผ่านทางรถไฟดังกล่าวให้สอดคล้องกับมาตรการความปลอดภัยของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่กำหนดให้บริเวณจุดตัดผ่านทางรถไฟที่มีค่าคูณควบจราจร (Traffic Moment หรือ T.M.) มากกว่า 100,000 ให้ก่อสร้างทางผ่านเป็นทางต่างระดับในรูปแบบของสะพานหรืออุโมงค์ ซึ่งเป็นการสนับสนุนนโยบายของกระทรวงคมนาคมในการรองรับโครงการพัฒนาการขนส่งระบบราง (โครงการรถไฟทางคู่)
โครงการก่อสร้างสะพานดังกล่าว ใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวม 288.700 ล้านบาท มีจุดเริ่มต้นโครงการ เชื่อม ทล.4 (กม.ที่ 278) จุดสิ้นสุดเชื่อมถนนองค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (กม.ที่ 1+450) ซึ่งก่อสร้างเป็นสะพานข้ามทางรถไฟ จำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย
– สะพานแห่งที่ 1 ยาว 310 เมตร พื้นสะพานกว้าง 10 เมตร และก่อสร้างถนนต่อเชื่อมแบบคอนกรีตเสริมเหล็กกว้าง 7 เมตร ไหล่ทางกว้าง 1.5 เมตร รวมความยาวถึงจุดสิ้นสุดโครงการ 1,246 เมตร พร้อมก่อสร้างทางกลับรถใต้สะพานผิวทางคอนกรีตเสริมเหล็ก
– สะพานแห่งที่ 2 ยาว 449.95 เมตร พื้นสะพานกว้าง 8 เมตร และก่อสร้างถนนต่อเชื่อมแบบคอนกรีตเสริมเหล็กกว้าง 6 เมตร ไหล่ทางกว้าง 1 เมตร รวมความยาวถึงจุดสิ้นสุดโครงการ 195 เมตร พร้อมสะพานลอยคนเดินข้าม 1 แห่ง มีผนังกันราวตกและมีหลังคาคลุมตลอดทางเดิน