Transport

“สุริยะ” อัพเกรดโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม “บก-น้ำ-ราง-อากาศ” @ภูเก็ต

“สุริยะ” เตรียมความพร้อมระบบคมนาคมขนส่งมวลชนพื้นที่ จ.ภูเก็ต รับนักท่องเที่ยว บูมเศรษฐกิจตามนโยบายฟรีวีซ่ารัฐบาล ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน 4 มิติ ”บก-น้ำ-ราง-อากาศ“ เร่งขยายขีดความสามารถสนามบินภูเก็ต รับผู้โดยสารปีละ 18 ล้านคน ลุยพัฒนาถนนทางหลวง เดินหน้าทางด่วนกะทู้-ป่าตอง คาดเริ่มก่อสร้างปี 67 แล้วเสร็จปี 71 พร้อมเชื่อมโครงข่ายระบบรางภายในเมือง-รถไฟทางไกลทั่วไทย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมเตรียมการและข้อมูลระบบคมนาคมขนส่งในพื้นที่ จ.ภูเก็ต โดยมีนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม คณะผู้บริหารกระทรวง หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวง และผู้แทนจากกรมเจ้าท่า (จท.) กรมท่าอากาศยาน (ทย.) กรมทางหลวง (ทล.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กรมการขนส่งทางราง (ขร.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2566 ณ ห้องประชุม 2 อาคาร 4 กระทรวงคมนาคม

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในการกระตุ้นการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ และสอดคล้องกับนโยบายฟรีวีซ่า โดยในส่วนของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก เมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค ที่มีส่วนช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศนั้น โดยกระทรวงคมนาคมจึงมีแผนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคม ทางถนน ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ เชื่อมโยงกับการให้บริการระบบคมนาคมขนส่งในทุกมิติ อำนวยความสะดวกการใช้บริการของประชาชนและนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และความมั่นคงของประเทศ

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดภูเก็ต และพื้นที่ใกล้เคียง โดยมีแผนการดำเนินงานที่จะขยายขีดความสามารถของท่าอากาศยานภูเก็ตในการรองรับผู้โดยสารให้ได้ถึง 18 ล้านคนต่อปี จากเดิมรองรับผู้โดยสารได้เพียง 12.5 ล้านคนต่อปี มุ่งเน้นมาตรการด้านความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล เพื่อสร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยว พร้อมเพิ่มการให้บริการด้วยความสะดวกรวดเร็ว เชื่อมต่ออย่างบูรณาการจากท่าอากาศยานเข้าสู่เมือง และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ด้วยโครงสร้างพื้นฐานทางถนน ให้มีความคล่องตัว และมีประสิทธิภาพ

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า สำหรับแผนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ได้แก่ การพัฒนาโครงข่ายทางเลี่ยงเมืองภูเก็ต หรือทางหลวงหมายเลข 4027 กม. 14+300-กม. 18+850 ให้เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 4.55 กิโลเมตร (กม.), การพัฒนาถนนแนวใหม่ 4 ช่องจราจร กม. 18+850-กม. 20+800 เชื่อมทางหลวงหมายเลข 4027 และท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะทาง 1.95 กม., การก่อสร้างทางแยกต่างระดับแก้ปัญหาการจราจรบริเวณอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร หรืออุโมงค์ท่าเรือที่จุดตัดทางหลวงหมายเลข 402 กับทางหลวงหมายเลข 4027

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาความเหมาะสมเพื่อพัฒนาทางหลวงแนวใหม่ สายบ้านป่าคลอก-บ้านบางคู ระยะทาง 5 กม. พร้อมบูรณาการร่วมกับการพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษ (ทางด่วน) ในโครงการทางพิเศษจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงกะทู้-ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กม. คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 และเปิดให้บริการได้ในปี 2571 และระยะที่ 2 ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ ระยะทาง 30.62 กม. คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2570 และเปิดให้บริการได้ในปี 2573 ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะลดเวลาในการเดินทางในเมืองจากเดิม 1.30-2 ชม. เหลือเพียง 20 นาที ช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดและสามารถรองรับปริมาณการเดินทางและคมนาคมขนส่งที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกันจะพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-MAP) สาย MR9 สุราษฎร์ธานี-ภูเก็ต ระยะทาง 236 กม. ที่จะพัฒนาในอนาคต อีกทั้ง ได้กำหนดแผนดำเนินการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนภายในเมืองภูเก็ต สายสถานีรถไฟท่านุ่น-ท่าอากาศยานภูเก็ต-ห้าแยกฉลอม รวมระยะทาง 58.5 กม. ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบการดำเนินโครงการ รวมถึงโครงการรถไฟทางไกลระหว่างเมือง สายท่าอากาศยานภูเก็ต-ท่าอากาศยานกระบี่ ระยะทาง 149 กม. เชื่อมระหว่างภูเก็ต พังงา และกระบี่ รวมถึงสายสุราษฎร์ธานี-ท่านุ่น ระยะทาง 163 กม. เชื่อมโยง จ.ภูเก็ตกับทางรถไฟสายใต้ไปยังโครงข่ายรถไฟทั่วประเทศ เพื่อให้การเดินทางด้วยระบบราง มีความสะดวก รวดเร็ว และทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ากระทรวงคมนาคมมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคม เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนคนไทยและนักท่องเที่ยว เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับจังหวัดภูเก็ตในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่แล้ว ยังทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องยั่งยืนตลอดไป

Loading

Back to top button