กรมราง เตรียมหารือ รฟท. ถกแนวทางแก้ปัญหารถไฟตกรางระยะยาว
กรมราง ลงพื้นที่ประสานติดตาม รฟท. เร่งดำเนินการกู้รถตกรางและซ่อมทางรถไฟ เพื่อให้เปิดทางรถไฟสายเหนือได้ภายในวันนี้ เตรียมหาแนวทางแก้ปัญหาระยะยาว
ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวภายหลังลงพื้นที่ติดตามการกู้ขบวนรถไฟตกรางร่วมกับนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พร้อมผู้บริหาร รฟท. เมื่อช่วงสายของวันที่ 1 ต.ค.2566 ว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 30 ก.ย.2566 ช่วงเช้ามืดในพื้นที่ อ.ลอง จ.แพร่ได้มีน้ำป่าไหลหลากผ่านทางรถไฟระหว่างเสาโทรเลขที่ 557/6 ถึงเสาโทรเลขที่ 558/13 โดยให้น้ำได้พัดหินโรยทางและดินคันทางจำนวนหลายแห่ง
เมื่อขบวนรถแล่นผ่านส่งผลให้ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 13 (สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-เชียงใหม่) ขณะทำขบวนถึงบริเวณเสาโทรเลขที่ 557/6-8 ระหว่างสถานีแก่งหลวง-สถานีบ้านปิน อ.ลอง จ.แพร่ เมื่อเวลา 05.48 น. รถจักรดีเซลไฟฟ้า 5246 ตกรางทุกเพลาทุกล้อพลิกตะแคงด้านซ้ายทาง และมีรถพ่วงตกรางอีก 3 คัน ได้แก่ รถโบกี้สัมภาระ (บพห. 1026) กับรถนั่งและนอนชั้นสองปรับอากาศ (บนท.ป. 1138) ตกรางทุกเพลาทุกล้อ และรถนั่งและนอนชั้นสองปรับอากาศที่พ่วงคันที่สาม (บนท.ป. 1115) ตกราง หนึ่งเพลาสองล้อ โดยพนักงานและผู้โดยสารปลอดภัยทุกคน แต่กีดขวางการเดินรถไฟสายเหนือ เนื่องจากต้องปิดทาง เพื่อยกรถที่ตกรางและซ่อมบำรุงทางให้มีความมั่นคงแข็งแรงก่อนเปิดให้บริการ โดยคาดว่าจะสามารถเปิดทางได้ในวันที่ 1 ต.ค.2566 เวลา 18.00 น.
ทั้งนี้ภายหลังจากที่กรมการขนส่งทางรางได้รับแจ้งเหตุ ได้มีการประสานงาน รฟท. อย่างต่อเนื่อง เพื่อดำเนินการขนถ่ายผู้โดยสารที่เดินทางมากับขบวนรถไฟที่ประสบเหตุและขบวนรถไฟที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งติดตามการกู้ยกรถที่ตกรางและซ่อมบำรุงทาง โดยเมื่อวาน (30 ก.ย.2566) รฟท. โดยฝ่ายปฏิบัติการเดินรถได้ดำเนินการขนถ่ายผู้โดยสารพร้อมจัดอาหารและเครื่องดื่มให้แก่ผู้ใช้บริการ รวมทั้งประชาสัมพันธ์งดเดินขบวนรถไฟสายเหนือ
โดยผู้โดยสารที่ไม่ประสงค์เดินทางสามารถติดต่อขอรับเงินคืนได้เต็มจำนวน ส่วนฝ่ายการช่างกลจัดรถโบกี้ปั้นจั่นกลช่วยเหตุอันตรายจากอุตรดิตถ์และบางซื่อมายังที่เกิดเหตุ และตัดขบวนรถที่ไม่ตกรางกลับมายังสถานีเด่นชัย จากนั้นเวลา 17.30 น. ดำเนินการยกรถ บนท.ป.1115 ที่ตกรางหนึ่งเพลาสองล้อขึ้นรางแล้วลากตู้โดยสารมาไว้ที่สถานีแก่งหลวงเมื่อเวลา 19.07 น. แล้ว
นอกจากนี้ ฝ่ายการช่างโยธา รฟท. ได้ดำเนินการซ่อมบำรุงทางและลงหินปรับฐานคันทางรถไฟ และใช้รถแบคโฮเปิดช่องทางน้ำระบายน้ำ เพื่อให้รถช่วยเหตุอันตรายเข้ามายังที่เกิดเหตุได้อย่างปลอดภัย และมีฐานที่มั่นคงสำหรับรถปั้นจั่นที่ยกรถตกราง เนื่องจากสภาพทางบริเวณดังกล่าวไม่มีหินโรยทางรองราง เนื่องจากถูกน้ำพัดไปยาวประมาณ 20 เมตร ต้องปรับฐานเพื่อตั้งขาของรถโบกี้ปั่นจั่นให้มั่นคง จึงทำให้งานล่าช้าจากเป้าหมายที่วางไว้
สำหรับแผนงานในวันนี้ (1 ต.ค.2566) ช่วงเช้าได้ดำเนินการยกรถ บนท.ป. 1138 ที่ตกรางทุกเพลาทุกล้อเบี่ยงออกเสร็จแล้ว จากนั้นจึงจะยกรถ บพห.1026 โดยยกเบี่ยงออกให้พ้นเขตโครงสร้างทางรถไฟก่อน เพื่อให้ฝ่ายการช่างโยธา รฟท. ดำเนินซ่อมบำรุงทางและตรวจร่วม 4 ฝ่าย เพื่อประเมินความมั่นคงแข็งแรงก่อนเปิดทางรถไฟ จากนั้นจึงให้รถโบกี้ปั้นจั่น 42 จากอุตรดิตถ์เดินไปอยู่ทางบ้านปิน และให้รถโบกี้ปั้นจั่น 43 ที่มาจากบางซื่ออยู่ฝั่งด้านสถานีแก่งหลวง โดยใช้รถโบกี้ปั้นจั่นทั้ง 2 คันยกรถจักรที่ตกรางให้แล้วเสร็จ ส่วนฝ่ายการช่างโยธาได้ดำเนินการซ่อมบำรุงทางฉุกเฉิน เพื่อให้สามารถเปิดการเดินรถไฟสายเหนือได้อย่างปลอดภัยโดยเร็ว
สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาว กรมการขนส่งทางรางจะจัดประชุมหารือกับ รฟท. เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยจะมีการพิจารณาทิศทางการไหลของน้ำ ลักษณะภูมิประเทศและสภาพทางกายภาพของทางรถไฟ ช่องท่อลอด/ทางระบายน้ำที่อยู่ใกล้เคียงบริเวณดังกล่าว เพื่อหาแนวทางป้องกันน้ำเซาะทางรถไฟโดยออกแบบเป็นสะพานคอนกรีต (Short Span Bridge) ต่อไป
รวมทั้งขอให้ รฟท. พิจารณาสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัย เช่น น้ำท่วม ดินถล่ม สำรวจช่องลอด/ท่อระบายน้ำ และกำจัดวัสดุที่อุดปิดหรือกีดขวางทางน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการไหลของน้ำ รวมทั้งพิจารณาติดตั้งระบบตรวจวัดปริมาณน้ำฝน จัดทำ Application หรือระบบแจ้งเตือนภัยเมื่อเกิดความเสี่ยงภัยของระบบราง โดยเฉพาะหากเกิดภัยธรรมชาติหรือน้ำท่วมที่ส่งผลกระทบต่อการเดินรถ
โดยอาจนำร่องในพื้นที่ภูเขาและพื้นที่เสี่ยงก่อน จากแผนที่เสี่ยงภัย (hazard map) เพื่อแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ฝ่ายการช่างโยธา ในการออกสำรวจพื้นที่จุดเสี่ยง และแจ้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการเดินรถเพื่อประสานแจ้งเตือนพนักงานขับรถไฟให้ใช้ความระมัดระวังหรือหยุดเดินรถชั่วคราวจนกว่าจะมั่นใจในความมั่นคงปลอดภัยของทางรถไฟ รวมทั้งพิจารณาการปรับปรุงระบบสื่อสารและโทรคมนาคมในพื้นที่ที่อับสัญญาณโทรศัพท์มือถือหรือวิทยุสื่อสาร เพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารได้อย่างต่อเนื่องและติดต่อประสานงานได้อย่างทันท่วงทีกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน