“สุรพงษ์” เช็กผลงานสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ คืบ 18.68% คาดเปิดบริการปี 2571
“สุรพงษ์” ลุยตรวจความคืบหน้าการก่อสร้าง สถานีสามยอด และสถานีวงเวียนใหญ่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ผลงานก้าวหน้า 18.68% คาดเปิดให้บริการปี 2571 พร้อมทำมาตรการลดผลกระทบด้านการจราจร บรรเทาความเดือดร้อนประชาชน
วันนี้ (4 ต.ค.2566) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย น.ส.ณภัทรา กมลรักษา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยมี นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร นายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร น.ส.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความคืบหน้าการดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) บริเวณสถานีสามยอด สถานีวงเวียนใหญ่ และสภาพการจราจรบนเส้นทางถนนพระปกเกล้า-สะพานพุทธ ที่อยู่ในแนวโครงการ พร้อมรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากประชาชนในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมอย่างยั่งยืน
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงคมนาคม โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายส่งเสริมระบบการขนส่งมวลชนระบบรางในกรุงเทพมหานคร ที่ให้ความสำคัญต่อเรื่องความปลอดภัย การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี และบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วนเพื่อบรรเทาปัญหาจราจรในระหว่างการก่อสร้าง เพื่อพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงการเดินทางได้อย่างไร้รอยต่อ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ให้สามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันคือ ความอุดมสุขของประชาชน
โดยในวันนี้ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงฯ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ ซึ่งปัจจุบันมีความคืบหน้า 18.68% ณ สิ้นเดือน ก.ย.2566 บริเวณสถานีสามยอด ซึ่งเป็นสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) ที่ในอนาคตจะใช้เป็นสถานีเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ มีงานก่อสร้างหลัก ได้แก่ งานก่อสร้างผนังสถานีใต้ดิน (Guide Wall) สถานีสามยอด
จากนั้นได้เดินทางไปตรวจสภาพการจราจรบนเส้นทางสะพานพระปกเกล้า-สะพานพุทธ ที่มีการปิดเบี่ยงจราจร เพื่อก่อสร้างโครงการฯ และพื้นที่ก่อสร้างสถานีวงเวียนใหญ่ ซึ่งเป็นสถานีใต้ดินใกล้กับวงเวียนใหญ่ ในแนวถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน มีงานก่อสร้างหลัก ได้แก่ งานก่อสร้างผนังสถานีใต้ดิน (Diaphragm Wall) สถานีวงเวียนใหญ่
ทั้งนี้ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการเสนอญัตติตั้งกระทู้ถามในประเด็นพื้นที่การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงกระทบต่อการเดินทางของประชาชน ซึ่งผู้ว่าการ รฟม. ได้บรรยายสรุปเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ รวมถึงได้รับฟังความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีข้อสั่งการให้ รฟม. ดำเนินมาตรการลดผลกระทบด้านการจราจร ดังนี้
1.ให้ใช้พื้นผิวจราจรสำหรับกิจกรรมก่อสร้างเท่าที่จำเป็น และไม่กระทบต่อการสัญจรของประชาชนหรือให้กระทบน้อยที่สุด ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถคืนผิวจราจรได้ในเดือน ส.ค.2567 และดำเนินการในส่วนโครงสร้างใต้ดินต่อไป
2.จุดที่มีการรื้อสะพานลอย ให้จัดทำจุดข้ามทางม้าลายทดแทน และจัดเจ้าหน้าที่อาสาจราจรทำหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน
3.จัดเรียงแบริเออร์ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่กีดขวางการสัญจรของประชาชน และติดตั้งป้ายสัญลักษณ์ ป้ายเตือน ไฟส่องสว่างต่าง ๆ ให้มองเห็นได้อย่างชัดเจน
4.ในกรณีที่มีปัญหาจราจรติดขัดหรือเป็นช่วงเวลาเร่งด่วน ให้มีการประสานบูรณาการทำงานร่วมกับตำรวจจราจรในบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อจัดการจราจรและบรรเทาผลกระทบให้แก่ประชาชน
5.ดำเนินการเยียวยาประชาชนที่อยู่ตามแนวสายทางก่อสร้างโครงการฯ ที่ได้รับผลกระทบ อาทิ การช่วยประชาสัมพันธ์ร้านค้าในแนวสายทางโครงการ เป็นต้น
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 23.63 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 14.29 กิโลเมตร สถานีใต้ดิน 10 สถานี และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 9.34 กิโลเมตร สถานียกระดับ 7 สถานี มีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากสถานีเตาปูน ซึ่งเป็นสถานีร่วมกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) และ MRT สายสีน้ำเงิน ตามแผนงานคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2571
เมื่อโครงการฯ แล้วเสร็จจะเป็นการขยายเส้นทางและพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ โดยจะเป็นระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่เชื่อมโยงพื้นที่และรองรับการเดินทางเชื่อมต่อของประชาชนในแนวเหนือ-ใต้ จากพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในไปยังพื้นที่จังหวัดนนทบุรี และสมุทรปราการ ช่วยเติมเต็มโครงข่ายการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ตลอดจนเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการระบบรถไฟฟ้าเป็นระบบขนส่งมวลชนหลัก เพื่อลดความหนาแน่นของการจราจรบนท้องถนน ตลอดจนช่วยลดมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อมจากการลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลลงได้