Transport

“สุรพงษ์” สั่งกรมราง ลุยพัฒนาโครงข่ายหนุนเชื่อมโยงระบบรางในประเทศและระหว่างประเทศ

“สุรพงษ์” มอบนโยบายกรมราง ลุยพัฒนาโครงข่ายหนุนเชื่อมโยงระบบรางทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ กระจายความเจริญเขตเมืองและภูมิภาค บูมท่องเที่ยวกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของประเทศ

วันนี้ (19 ต.ค.2566) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย น.ส.ณภัทรา กมลรักษา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวง นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวง นายสมชาย สุมนัสขจรกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่ผู้บริหารกรมการขนส่งทางราง (ขร.) โดยมี นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ ขร. ร่วมรับมอบนโยบาย ณ ห้องประชุมมนังคสิลา ชั้น 2 อาคาร ณ ถลาง ขร.

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ตามกรอบนโยบายกระทรวงคมนาคม “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ที่ต้องการสร้างความสุขให้กับประชาชนในทุกมิติ โดยระบบขนส่งทางรางถือเป็นหนึ่งในโหมดการเดินทางสำคัญ เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้จึงต้องมีการกำหนดกรอบนโยบายการดำเนินงานที่ชัดเจนเพื่อให้การดำเนินงานของ ขร. ในฐานะหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลโครงสร้างขนส่งคมนาคมพื้นฐานด้านระบบรางของประเทศ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและนโยบายของกระทรวงคมนาคมในการขับเคลื่อนตามภารกิจด้านคมนาคมและการขนส่งทางราง ดังนี้

1.ด้านเศรษฐกิจ มุ่งเน้นการกำกับ ติดตาม การพัฒนาโครงข่ายระบบรางทั้งในเมืองและระหว่างเมือง การพัฒนาระบบรถไฟระหว่างเมือง การพัฒนาทางคู่ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระบบรางทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อการกระจายความเจริญทั้งในเขตเมืองและภูมิภาคและส่งเสริมการท่องเที่ยวกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของประเทศ

2.ด้านความปลอดภัย โดยให้ความสำคัญกับการกำกับ ติดตามการให้บริการระบบราง ด้วยการยกระดับด้านการอำนวยความสะดวก และการให้บริการด้านความปลอดภัยสู่มาตรฐานสากลทั้งในมิติด้านการเพิ่มประสิทธิภาพในส่วนการให้บริการเชิงสังคมและการให้บริการเชิงพาณิชย์ด้วย โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความเสี่ยงและการสูญเสียจากการเดินทางระบบขนส่งทางราง สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนที่มาใช้บริการ

3.ด้านการให้บริการที่เป็นมาตรฐานสากล เดินหน้ายกระดับการให้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวกและเชื่อมต่อการเดินทางให้กับประชาชนที่ต้องการเข้าถึงระบบขนส่งทางราง ตลอดจนตอบสนองการใช้บริการ ให้สามารถเดินทางจากต้นทางไปถึงปลายทางได้อย่างรวดเร็ว สะดวก สะอาด ปลอดภัย ตรงต่อเวลา ราคาเหมาะสม รองรับประชาชนทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ ทุกภาคส่วน

4.ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การหาแนวทางในการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อใช้ในการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จากการ Shift Mode และนำมาซื้อขายเป็นคาร์บอนเครดิต เพื่อเป็นรายได้กลับคืนให้แก่ผู้ให้บริการในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่อไป รวมทั้งการกำกับดูแลและตรวจสอบหน่วยงาน operation ในเขตพื้นที่ระหว่างการก่อสร้างด้วย โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ และ PM 2.5 ลดสภาวะโลกร้อน

การดำเนินการต่างๆ เหล่านี้ ถือเป็นหนึ่งในแผนการดำเนินงานที่มุ่งมั่นส่งเสริมการพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้มีประสิทธิภาพพร้อมเดินหน้าพัฒนาระบบขนส่งทางรางและขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมเพื่อให้ระบบขนส่งทางรางเป็นระบบขนส่งหลักของประเทศที่มีความทันสมัย ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และเพื่อให้คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่และการเดินทางของประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย และมีความสุขในการใช้บริการ เพื่อให้เป็น “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน”

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ ขร. ดำเนินการติดตามและประเมินผลหลังจากที่กระทรวงคมนาคมประกาศใช้นโยบายค่าอัตราค่ารถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย ในรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วง รวมถึงการพัฒนาโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ทั้ง 3 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช เพื่อให้เป็นไปตามแผนการเปิดให้บริการภายในปี 2570

และโครงการรถไฟอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟทางคู่ โดยเร่งรัดก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 ที่กำลังก่อสร้างอยู่ 4 โครงการ และให้เร่งนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 7 โครงการ รวมถึงการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการรถไฟสายใหม่ และโครงการพัฒนาทางรถไฟเชื่อมต่อนิคมอุตสาหกรรม ระยะเร่งด่วน (ปี พ.ศ.2566-2570) เพื่อช่วยส่งเสริมการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศ และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน

และได้เน้นย้ำเรื่องการพัฒนาระบบ feeder ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะสนับสนุนให้ระบบการขนส่งทางรางเป็นระบบการขนส่งหลักของประเทศในอนาคตและใช้ประโยชน์จากระบบรางได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาในทุกด้าน รวมถึงการเพิ่มความสะดวกปลอดภัยสำหรับประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟทางจังหวัดภาคใต้ พร้อมพลักดัน พรบ.การขนส่งทางราง ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ภายในปี 2567

Loading

Back to top button