18 ธ.ค.นี้ เปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูเต็มรูปแบบ เวลา 06.00-24.00 น.
“กรมราง” ลุยเช็กความพร้อม-ปลอดภัย ก่อนเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี 34.50 กม. 30 สถานี เตรียมเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ 18 ธ.ค.นี้ เวลา 06.00-24.00 น. อำนวยความสะดวกผู้โดยสารในการเดินทาง
วันนี้ (24 ต.ค.2566) ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางราง ลงพื้นที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัทที่ปรึกษาโครงการ (PCPK) และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้ให้บริการเดินรถ เพื่อติดตามความพร้อมก่อนเปิดให้บริการประชาชนในเดือน ธ.ค.2566
รถไฟฟ้าสายสีชมพู หรือที่รู้จักกันในชื่อ “น้องนมเย็น” เป็นรถไฟฟ้าโมโนเรลสายที่สองของไทย ถัดจากรถไฟฟ้าสายสีเหลือง มีแนวเส้นทางเริ่มจากศูนย์ราชการนนทบุรี วิ่งผ่านถนนสำคัญหลายเส้น ได้แก่ ถนนรัตนาธิเบศร์ ถนนติวานนท์ ถนนแจ้งวัฒนะ ถนนรามอินทรา และถนนสีหบุรานุกิจ จนถึงมีนบุรี รวมระยะทาง 34.50 กิโลเมตร 30 สถานี มีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่น ได้แก่ สายสีเชียว สายสีแดง สายสีม่วง ปัจจุบันมีความคืบหน้าแล้วกว่า 98.37%
การลงพื้นที่ครั้งนี้ เริ่มต้นจากสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (PK16) ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับสถานีวัดพระศรีมหาธาตุของรถไฟฟ้าสายสีเขียว จุดเด่นของสถานีนี้ คือ ชานชาลาและทางวิ่งจะถูกแยกเป็น 2 ฝั่ง และมีสะพานรถยนต์ข้ามแยกวงเวียนบางเขนคั่นอยู่ตรงกลาง โดยจะมี Skywalk ให้ผู้ใช้บริการสามารถเดินทะลุจากชานชาลาของรถไฟฟ้าสายสีชมพูไปที่บริเวณขายตั๋วของรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้เลย โดยไม่ต้องแตะบัตรเข้า-ออกอีกครั้ง ทำให้เดินทางสะดวกรวดเร็วมากขึ้น
ต่อมาได้ร่วมทดสอบการเดินรถ จากสถานีวัดพระศรีมหาธาตุไปยังสถานีหลักสี่ (PK14) สถานีนี้มี Skywalk เชื่อมต่อไปที่สถานีหลักสี่ของรถไฟชานเมืองสายสีแดง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และศูนย์การค้าไอทีสแควร์ ซึ่งอยู่คนละฝั่งของถนนวิภาวดีรังสิตได้
นอกจากนี้ รถไฟฟ้าสายสีชมพูยังมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) โดยมี Skywalk แห่งแรกในไทย ที่มีทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ (Walkalator) ความยาว 340 เมตร ในอนาคตสถานีนี้จะมีการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย-ลำสาลีได้อีกด้วย
สำหรับสถานีแจ้งวัฒนะ 14 (PK 11)-สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ (PK 13) ที่เริ่มการก่อสร้างทางขึ้น-ลงได้ล่าช้า ปัจจุบันก่อสร้างเสาตอม่อและโครงสร้างเหล็กแล้ว อยู่ระหว่างก่อสร้างหลังคา ราวกันตก ติดตั้งและทดสอบการใช้งานบันไดเลื่อนและลิฟต์ ในส่วนของการเชื่อมต่อ สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ จะมี Skywalk เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ปฏิบัติงานในบริเวณศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติกว่าแสนราย รวมถึงทยอยคืนพื้นผิวจราจรตลอดแนวเส้นทาง เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเดินทางได้สะดวกปลอดภัย
ซึ่ง รฟม. ได้เร่งรัดผู้รับจ้างในการเปิดให้บริการเร็วขึ้นจากเดิม เดือน มิ.ย.2567 เบื้องต้นผู้รับจ้างคาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ ในวันที่ 18 ธ.ค.2566 โดยให้บริการในช่วง 06.00-24.00 น. อย่างไรก็ตาม รฟม. จะต้องตรวจสอบงานและความปลอดภัยให้เป็นไปตามสัญญาก่อนเปิดให้บริการต่อไป