“สุรพงษ์” มอบนโยบาย รฟฟท. สั่งเพิ่มจำนวนผู้โดยสาร-รายได้จากการโฆษณาในขบวนรถและสถานี
“สุรพงษ์” ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบาย รฟฟท. รับฟังรายงานผลประกอบการ ปัญหาอุปสรรค แนะเพิ่มจำนวนผู้โดยสาร และรายได้จากการโฆษณาในขบวนรถและสถานี
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่ผู้บริหารบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) รับฟังรายงานผลประกอบการรถไฟฟ้าสายสีแดง ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานพร้อมข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหา การเพิ่มจำนวนผู้โดยสาร การเพิ่มรายได้จากการโฆษณาในขบวนรถและสถานี
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย น.ส.ณภัทรา กมลรักษา เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่ผู้บริหารการ รฟฟท. โดยมี นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) นายนิรุฒ มณีพันธ์ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ รฟฟท. พร้อมด้วยพนักงาน รฟฟท. ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปภารกิจการดำเนินงาน ในวันที่ 25 ต.ค.2566 ณ ห้องประชุมบุรฉัตร สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ กล่าวว่า วันนี้มาเยี่ยมชมการปฏิบัติงานของพนักงาน รฟฟท. ได้รับฟังรายงานผลประกอบการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงภายหลังดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม (Quick Win) ค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.2566 เวลา 11.00 น. เป็นต้นมา พบว่าปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.01 ในช่วงระหว่างวันที่ 16-20 ต.ค.2566 (วันทำการปกติ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.52 ระหว่างวันที่ 21-23 ต.ค.2566 (วันหยุดราชการต่อเนื่อง)
โดยการเพิ่มจำนวนผู้โดยสารได้มอบหมายให้ กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ปรับบทบาทองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เพื่อพัฒนาระบบ Feeder รับ-ส่งผู้โดยสารจากชุมชนและสถาบันการศึกษา เข้า-ออกระบบราง ในส่วนการเพิ่มรายได้จากการโฆษณาในขบวนรถไฟฟ้าสายสีแดงและสถานีที่ยังไม่มีการดำเนินการนั้น ทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจจึงมอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ ขร. บูรณาการร่วมกันกับ Marketing มืออาชีพเพื่อหารายได้เข้าองค์กร
สำหรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจของ รฟฟท. ภายใต้สัญญารับจ้างเดินรถสายสีแดงกับ รฟท. เป็นสัญญารายปี ทำให้พนักงาน รฟฟท. ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสิทธิภาพในการเดินรถและซ่อมบำรุง ไม่มีความมั่นคง ไม่จูงใจต่อการดึงดูดและรักษาบุคลากรที่สำคัญไว้ได้นั้น มอบหมายให้ ขร. และ รฟท. ศึกษารูปแบบการบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าของรถไฟฟ้าสายสีอื่น ๆ พิจารณาข้อดีข้อเสีย รวมทั้งจุดอ่อนจุดแข็งโอกาสทางธุรกิจ เพื่อนำเสนอรัฐบาลในการพัฒนาและขับเคลื่อนองค์กรต่อไป