“กรมราง” ลุยเช็คความพร้อมการเชื่อมต่อสถานีศูนย์ราชการฯ ก่อนเปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูปลายปีนี้
“กรมราง” ลุยเช็คความพร้อมการเชื่อมต่อสถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ก่อนเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูปลายปีนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ปฏิบัติงานและผู้มาติดต่องานในบริเวณศูนย์ราชการฯ กว่าแสนราย
วันนี้ (2 พ.ย.2566) ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) มอบหมายให้ ดร.ทยากร จันทรางศุ ผู้อำนวยการกองมาตรฐานความปลอดภัยและบำรุงทางรักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองกำกับกิจการขนส่งทางราง พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ลงพื้นที่สำรวจสภาพกายภาพของสถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ (PK 12) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และการเชื่อมต่อกับศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อตรวจสอบความพร้อมในการรองรับการเชื่อมต่อ ก่อนเปิดให้บริการประชาชนปลายปีนี้ โดยมีนายรัฐพงศ์ พันธุ์ติยะ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมและบริหารโครงการบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) และเจ้าหน้าที่ ธพส. ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมหารือ
การลงพื้นที่ครั้งนี้ คณะได้ดำเนินการสำรวจสภาพกายภาพของสถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ (PK 12) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ซึ่งมีทางเข้า-ออก 4 ทาง (ฝั่งถนนแจ้งวัฒนะขาเข้าเมือง 2 ทางและฝั่งขาออกเมือง 2 ทาง) โดยฝั่งศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ มีทางขึ้น-ลง 2 ทาง คือ ทางออก 3 มีบันไดหน้ากรมการกงสุล และมีบันไดเลื่อนเชื่อมบริเวณหน้าศาลปกครองสูงสุด กับทางออก 4 มีลิฟต์เชื่อมบริเวณหน้าประตูทางออกกรมการกงสุลและบันไดเชื่อมบริเวณทางเข้ากรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)
ทั้งนี้ บริเวณทางออก 3 ธพส. อยู่ระหว่างเตรียมการเชื่อมต่อทางเดินลอยฟ้า (sky walk) ระหว่างสถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ (PK 12) กับบริเวณสวนลอยฟ้าชั้น 2 ของอาคารจอดรถศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ด้านข้างอาคาร A ซึ่งชั้นล่างของอาคารได้พัฒนาเป็นจุดเชื่อมต่อรถโดยสารไฟฟ้ารองรับ 23 ที่นั่ง จำนวน 5 คัน
โดย ธพส. อยู่ระหว่างจัดหา เพื่อนำมาวิ่งภายในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ไปยังอาคาร B และ C เป็นหลัก ส่วนด้านบนที่เป็นสวนลอยฟ้าสามารถเดินเชื่อมไปยังอาคาร A และยังมีอาคารจอดรถใหม่รองรับรถยนต์ได้อีก 1,800 คัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ปฏิบัติงานและผู้มาติดต่องานในบริเวณศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ กว่าแสนราย โดย ขร. ได้ประสานขอความร่วมมือเร่งรัดดำเนินการก่อสร้างให้ทันการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ของรถไฟฟ้าสายสีชมพู
นอกจากนี้คณะได้ดำเนินการสำรวจการให้บริการขนส่งสาธารณะ และป้ายรถโดยสารบริเวณศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคาร B (มีหน่วยงานทั้งหมด 35 หน่วยงาน) และอาคาร C (อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดใช้งานในปี 2567)
โดยปัจจุบันองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดรถโดยสารสาธารณะให้บริการ 3 สาย ได้แก่ สาย 66 สถานีขนส่งสายใต้-ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ สาย 166 อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ สาย 2-36 ไทรน้อย-ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ
และบริษัท ไทยสมายล์บัส จำกัด ให้บริการเดินรถ 3สาย ได้แก่ สาย 3-23E (สาย 513 เดิม) สำโรง-ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ สาย1-31 หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ (คลองห้า)-ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ และสาย 1-13 (สาย 126 เดิม) คลองตัน-ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ
นอกจากนี้ ขสมก. ยังให้บริการเดินรถสาย 59 รังสิต-ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ จำนวน 2 คันที่วิ่งให้บริการช่วงชั่วโมงเร่งด่วน รวมวันละ 4 เที่ยว (เร่งด่วนเช้า 2 เที่ยว และเร่งด่วนเย็น 2 เที่ยว) รวมทั้งมีรถ shuttle golf cart ไฟฟ้า และรถสองแถวที่ให้บริการฟรี จำนวน 2 สาย ที่วิ่งเชื่อมอาคาร A และ B ของศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษากับปากซอยแจ้งวัฒนะ 7 ที่อยู่ใกล้เคียงทางเข้า-ออก 3 ของสถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ (PK 12) ด้วยความถี่ประมาณ 8 นาทีในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าและเย็น
นอกจากนี้ คณะยังได้เดินทางไปสำรวจอาคารจอดแล้วจรของโครงการรถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิทที่สถานีแยก คปอ. (รองรับรถยนต์ 1,220 คัน และรถจักรยานยนต์ 275 คัน) และสถานีคูคต (รองรับรถยนต์ 846 คัน และรถจักรยานยนต์ 68 คัน) รวมทั้งอาคารจอดแล้วจรของรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สีม่วง) ที่สถานีแยกนนทบุรี 1 (รองรับรถยนต์ 565 คัน และรถจักรยานยนต์ 100 คัน) เพื่อรองรับประชาชนที่จะนำรถยนต์ส่วนตัวมาจอดที่อาคารจอดแล้วจร ก่อนมาใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี
โดยรถไฟฟ้าสายสีชมพูยังมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ซึ่งมี Skywalk แห่งแรกในไทย ที่มีทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ (Travelator) ความยาว 340 เมตร นอกจากนี้ในอนาคตสถานีนี้จะมีการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย-ลำสาลีได้อีกด้วย
ทั้งนี้ ขร. ได้ประสานการรถไฟฟ้าขนส่งมวชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อเร่งรัดผู้รับจ้างในการเปิดให้บริการเร็วขึ้น และทยอยคืนพื้นผิวจราจรตลอดแนวเส้นทาง เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเดินทางได้สะดวกปลอดภัย อย่างไรก็ตาม รฟม. จะต้องตรวจสอบงานและความปลอดภัยให้เป็นไปตามสัญญาก่อนเปิดให้บริการให้กับประชาชนต่อไป