“มนพร” รมช.คมนาคม ลงพื้นที่เช็กความคืบหน้าสร้างท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ส่งมอบพื้นที่ถมทะเลพื้นที่ 1-2 เรียบร้อย ส่วนพื้นที่ถมทะเล 3 คาดส่งมอบ มิ.ย.67 และ ส่งมอบพื้นที่ F1 ให้เอกชนคู่สัญญาปลายปี 68 พร้อมตรวจโครงการศูนย์กลางการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ SRTO ในปีนี้มีตู้สินค้าผ่านท่า 413,000 ทีอียู ตั้งเป้าหมายปีงบฯ 67 ปริมาณตู้เพิ่มขึ้นเป็น 440,000 ทีอียู
วันนี้ (2 พ.ย.2566) นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนายสรพันธ์ คุณากรวงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจราชการ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) โดยมีนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) พร้อมด้วยว่าที่ร้อยตรี รัฐกร เขียวไพศาล นักบริหาร 16 ประจำผู้อำนวยการ กทท. ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง และผู้บริหารฯ ร่วมให้การต้อนรับ
สำหรับการลงพื้นที่เพื่อตรวจราชการครั้งนี้ นางมนพรได้รับฟังการบรรยายสรุปกิจการโครงการพัฒนาต่าง ๆ ของท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) พร้อมทั้งตรวจติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณพื้นที่ท่าเรือและการดำเนินการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนที่ 1 โดยมีผู้อำนวยการ กทท. เป็นผู้บรรยาย ณ หอบังคับการพัฒนาแหลมฉบัง
ความคืบหน้างานรับเหมาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ได้ส่งมอบพื้นที่ถมทะเลพื้นที่ 1 และ 2 เรียบร้อยแล้ว สำหรับพื้นที่ถมทะเล พื้นที่ 3 คาดว่าจะส่งมอบภายในเดือน มิ.ย.2567 และ กทท. สามารถส่งมอบพื้นที่ F1 ของโครงการให้แก่บริษัทเอกชนคู่สัญญาได้ภายในปลายปี 2568
นอกจากนี้นางมนพร ได้เข้าเยี่ยมชมการปฏิบัติงาน ณ ท่าเทียบเรือ D บริษัท ฮัทชิสัน เทอร์มินัล จำกัด และ ลงพื้นที่ตรวจการปฏิบัติงานของโครงการศูนย์กลางการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operator : SRTO)
ผู้อำนวยการ กทท. บรรยายสรุปและให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ SRTO ว่า สำหรับโครงการ SRTO ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 600 ไร่ ระหว่างท่าเทียบเรือชุด B และชุด C พัฒนาขึ้น เพื่อรองรับการขนส่งตู้สินค้าด้วยระบบรางที่ท่าเรือแหลมฉบัง สนับสนุนการขับเคลื่อนการขนส่งหลายรูปแบบทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำอย่างไร้รอยต่อ ตามนโยบายรัฐบาล เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด ลดมลภาวะ ลดต้นทุนการขนส่ง และพัฒนาระบบโลจิสติกส์โดยรวมของประเทศ
โครงการฯ ดังกล่าว มีวงเงินลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท โดย กทท. เป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือยกขนหลักทั้งหมด และให้ท่าเรือแหลมฉบังดำเนินการจ้างเหมาเอกชนบริหารจัดการตู้สินค้าในโครงการฯ
สำหรับในปีงบประมาณ 2566 มีตู้สินค้าผ่านท่าภายในโครงการ SRTO ทั้งสิ้น 413,000 ทีอียู ตั้งเป้าหมายปีงบประมาณ 2567 ปริมาณตู้เพิ่มขึ้นเป็น 440,000 ทีอียู ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดซื้อเครื่องมือยกขนในโครงการระยะที่ 2 ได้แก่ Rail Mounted Gantry Crane จำนวน 2 คัน และ Rubber Tyred Gantry Crane จำนวน 4 คัน คาดหากแล้วเสร็จปี 2568 จะเพิ่มประสิทธิภาพการรับตู้สินค้าเพิ่มเป็น 1 ล้าน ทีอียู