“สุริยะ” ฉายภาพ “โครงการแลนด์บริดจ์” บนเวที Roadshow สหรัฐฯ
“สุริยะ” ฉายภาพ “โครงการแลนด์บริดจ์” บนเวที Roadshow สหรัฐฯ โชว์ความได้เปรียบประเทศไทย ช่วยร่นระยะทาง-ประหยัดต้นทุน ก้าวสู่จุดศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลของภูมิภาค ชี้ระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี ได้ผลประโยชน์ด้านการเงินไม่น้อยกว่า 10% คืนทุนในปีที่ 24 เผยเบื้องต้นนักลงทุน “สหภาพยุโรป-ตะวันออกกลาง-จีน-ญี่ปุ่น” ให้ความสนใจ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในงานสัมมนาโครงการ “Thailand Landbridge Roadshow” พัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับการผลิตและการขนส่ง จัดขึ้นโดยกระทรวงคมนาคม ณ ห้อง The Director ชั้น 3 โรงแรม Ritz-Carlton เมื่อเวลา 16.00 น. ของวันที่ 13 พ.ย.2566 ตามเวลาท้องถิ่นนครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกาว่า จากนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ได้ผลักดันให้เดินหน้าโครงการแลนด์บริดจ์ และมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมนำเสนอข้อมูลโครงการฯ (Roadshow) ในช่วงเดือน พ.ย.2566-ม.ค. 2567 ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2566 ที่ผ่านมา เพื่อดึงนักลงทุนต่างประเทศมาลงทุนในประเทศไทย
สำหรับการ Roadshow ณ นครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้นำเสนอความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะกลายเป็นจุดศูนย์กลางของการขนส่งทางทะเลของภูมิภาค และนำเสนอโอกาสในการลงทุนให้แก่นักธุรกิจที่สนใจที่จะเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในอนาคต โดยข้อมูลและข้อหารือของนักธุรกิจจากการทำ Roadshow จะนำไปสู่การพัฒนาโครงการฯและการพิจารณาในด้านการให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุนต่อไป ทั้งนี้ จากการที่รัฐบาล และกระทรวงคมนาคมได้นำเสนอรายละเอียดโครงการไปแล้วนั้น พบว่า นักลงทุนในหลายประเทศมีความสนใจ เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน และตะวันออกกลาง เป็นต้น
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า การพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ จะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ซึ่งจะเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2568-2583 โดยจะมีการคัดเลือกเอกชนในรูปแบบการประกวดราคานานาชาติ (International Bidding) สัญญาเดียว มีระยะเวลาสัญญาในการบริหาร 50 ปี ซึ่งประกอบด้วย การพัฒนาท่าเรือ 2 ฝั่ง, ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และทางรถไฟ ในส่วนของกลุ่มนักลงทุนนั้น จะต้องมีการรวมกลุ่มกันของทั้งผู้ประกอบการเดินเรือ ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการท่าเรือ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และนักลงทุนด้านอุตสาหกรรม ซึ่งกฎหมายใหม่จะถูกร่างขึ้น เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการกำหนดสิทธิพิเศษให้กับนักลงทุน
ทั้งนี้ ภายใต้ระยะเวลาสัญญา 50 ปี จากการประเมิน พบว่า นักลงทุนจะได้รับผลประโยชน์ด้านการเงินไม่น้อยกว่า 10% โดยมีระยะเวลาคืนทุนที่ 24 ปี ซึ่งตัวเลขดังกล่าว เป็นการประเมินจากรายได้จากการบริหารท่าเรือ และขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนมีการพัฒนาเพิ่มเติมจากการอุตสาหกรรม และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยนั้น จะช่วยสร้างผลประโยชน์ด้านการเงิน และระยะเวลาคืนทุน จะดีกว่าการประเมินข้างต้นอย่างแน่นอน
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า โครงการแลนด์บริดจ์จะเป็นเส้นทางการเดินเรือใหม่ของโลกและจะสามารถแก้ปัญหาของความล่าช้าในการเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งโครงการนี้จะเป็นโอกาสครั้งสำคัญสำหรับนักลงทุนในหลายภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการเดินเรือ ผู้ให้บริการท่าเรือ ผู้ให้บริการการขนส่ง นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และนิคมอุตสาหกรรม นักลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ โดยทางหน่วยงานรัฐบาลไทย พร้อมที่จะให้การสนับสนุนเพื่อให้โครงการแลนด์บริดจ์ ออกมาเป็นรูปธรรม ตามแผนที่วางไว้ในการพัฒนาโครงการในพื้นที่ภาคใต้
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยมีความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ของตำแหน่งที่ตั้งโครงการ โดยตั้งอยู่ในพื้นที่ศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโครงข่ายด้านการคมนาคมของไทยที่ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง สามารถเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคจนถึงตอนใต้ของประเทศจีนได้อย่างสะดวก และจะนำไปสู่การเป็นประตูการค้าในการนำเข้าและส่งออกที่สำคัญของภูมิภาค นอกจากนี้ โครงการแลนด์บริดจ์ยังอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญในพื้นที่ภาคใต้ของไทย ที่ประกอบด้วย ท่าเรือฝั่งตะวันตกเปิดออกไปสู่มหาสมุทรอินเดีย และท่าเรือฝั่งตะวันออกที่เปิดออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิกโดยมีการเชื่อมต่อกันด้วยทางรถไฟ และมอเตอร์เวย์ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร (กม.) จึงทำให้แลนด์บริดจ์เป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดที่จะเชื่อมโยงสองฝั่งมหาสมุทร
นอกจากนี้ จากปัญหาความหนาแน่นของการเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกา ที่เกิดจากการที่มีปริมาณเรือสินค้าจำนวนมากต้องเดินทางผ่านช่องแคบนี้ ซึ่งจำนวนของเรือเพิ่มสูงขึ้นทุกๆ ปี จากสัดส่วนความต้องการในการบริโภคของประชากร ด้วยข้อจำกัดของการรับปริมาณเรือผ่านช่องแคบนี้ ทำให้เรือสินค้าจะต้องรอคิวเป็นระยะเวลานานในการผ่านไปสู้จุดหมายปลายทาง โดยโครงการแลนด์บริดจ์จะช่วยลดทั้งระยะทาง ระยะเวลา และค่าใช้จ่าย และด้วยระยะเวลาที่สั้นลง และราคาที่ถูกลง ดังนั้น จึงมองว่าจะมีเรือสินค้าจำนวนมาก โดยเฉพาะเรือสินค้าขนาดกลางจะหันมาใช้โครงการแลนด์บริดจ์มากขึ้น ซึ่งเป็นผลต่อการเพิ่มปริมาณสินค้าผ่านโครงการแลนด์บริดจ์อย่างมีนัยสำคัญ
”ด้วยรายละเอียดตามที่กล่าวข้างต้น เป็นเหตุให้เกิดการเชื่อมโยงของสินค้านำเข้าและส่งออกของประเทศที่อยู่รายรอบทั้งด้านตะวันตก และตะวันออก และเป็นแรงดึงดูดที่สำคัญในการแลกเปลี่ยนสินค้าของประเทศทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตลอดจนพื้นที่ตอนใต้ของไทย โดยกระทรวงคมนาคม จึงขอใช้โอกาสนี้ นำเสนอโอกาสในการเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของผู้พัฒนาโครงการจากนักลงทุนทุกท่าน เพื่อความสำเร็จไปด้วยกัน“ นายสุริยะ กล่าว