Travel

ทอท. พร้อมรับผู้โดยสารเที่ยวฤดูหนาวพุ่ง 51.11 ล้านคน

ทอท. พร้อมรับผู้โดยสารใช้บริการ 6 สนามบินทั่วไทยเพิ่มขึ้นช่วงการท่องเที่ยวฤดูหนาว ช่วงเดือน พ.ย.66-มี.ค.67 คาดผู้โดยสาร 51.11 ล้านคน ขณะที่ คาดปริมาณผู้โดยสาร ปีงบประมาณ 2567 ทะลุ 119.78 ล้านคน  ยันมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการไม่กระทบรายได้

วันนี้ (27 พ.ย.2566) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ทอท. หรือ AOT กระทรวงคมนาคม ประมาณการปริมาณผู้โดยสารในช่วงการท่องเที่ยวฤดูหนาว (Winter Schedule) ประจำปี 2567 คือ ประมาณช่วงเดือน พ.ย. 2566-เดือน มี.ค.2567 ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) และท่าอากาศยานหาดใหญ่ จะมีผู้โดยสารรวมประมาณ 51.11 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.32 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นผู้โดยสารภายในประเทศประมาณ 21.57 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.75 และผู้โดยสารระหว่างประเทศประมาณ 29.54 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.96

โดยในปีงบประมาณ 2567 (เดือน ต.ค.2566-ก.ย.2567) ทอท. คาดว่าปริมาณผู้โดยสารยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ซึ่งจะมีผู้โดยสารเดินทางผ่านท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ประมาณ 119.78 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.71 แบ่งเป็นผู้โดยสารภายในประเทศประมาณ 49.48 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 และผู้โดยสารระหว่างประเทศประมาณ 70.30 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.41

ทั้งนี้จากการประมาณการผู้โดยสารดังกล่าวสอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริงของเดือนพฤศจิกายน 2566 (ข้อมูลเกิดจริง 20 วัน รวมกับคาดการณ์ 10 วัน) โดยมีปริมาณผู้โดยสารรวม 9.53 ล้านคน แบ่งเป็นผู้โดยสารภายในประเทศ 4 ล้านคน และผู้โดยสารระหว่างประเทศ 5.53 ล้านคน ซึ่งแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้โดยสารโดยเฉพาะผู้โดยสารระหว่างประเทศ รวมทั้งมาตรการต่างๆ ของภาครัฐที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น มาตรการ Visa Free ที่กระตุ้นให้มีการเดินทางของผู้โดยสารเพิ่มขึ้น โดยปริมาณผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยตั้งแต่มีมาตรการ Visa Free เป็นผู้โดยสารสัญชาติจีนจำนวนเฉลี่ยวันละ 16,800 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.3 เมื่อเทียบกับก่อนมีมาตรการ ชาวคาซัคสถานจำนวนเฉลี่ยวันละ 560 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 143.5 ชาวอินเดียจำนวนเฉลี่ยวันละ 6,000 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6 และชาวไต้หวันจำนวนเฉลี่ยวันละ 4,500 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4

นอกจากนี้ ปริมาณผู้โดยสารรายสัญชาติ ณ ท่าอากาศยาน 6 แห่งของ ทอท. เมื่อปีงบประมาณ 2566 (เดือน ต.ค.2565-ก.ย.2566) พบว่าผู้โดยสารชาวจีนยังคงมีจำนวนสูงสุดเมื่อเทียบกับสัญชาติอื่น โดยมีจำนวน 5.33 ล้านคน รองลงมาคือ สัญชาติอินเดียจำนวน 3.26 ล้านคน เกาหลีใต้จำนวน 3.07 ล้านคน มาเลเซียจำนวน 2.21 ล้านคน และรัสเซียจำนวน 2.2 ล้านคน

การเดินทางที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง Winter Schedule และในปี 2567 นี้สืบเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาลที่ได้มีมาตรการ Visa Free ซึ่งจะกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ผลักดันให้เกิดรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดย ทอท. มีความพร้อมดำเนินการตามนโยบายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่ได้กำชับ ทอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนที่ให้บริการในท่าอากาศยานให้บูรณาการความร่วมมือระหว่างกัน

เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับผู้โดยสารที่จะเดินทางมายังประเทศไทย ทั้งในด้านของการจัดพื้นที่ให้เพียงพอต่อปริมาณผู้โดยสาร การจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น รถเข็นกระเป๋าสัมภาระ การนำเทคโนโลยีเข้ามาลดความแออัดภายในอาคารผู้โดยสาร รวมไปถึงการจัดเจ้าหน้าที่คอยให้บริการและอำนวยความสะดวก โดยเฉพาะบริเวณเคาน์เตอร์เช็กอิน จุดตรวจค้นและจุดตรวจหนังสือเดินทางให้ ทอท. ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ให้เกิดภาพความหนาแน่น เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถผ่านกระบวนการต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และได้รับความสะดวกสบายเทียบเท่าท่าอากาศยานชั้นนำระดับโลก

ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า เร่งดำเนินการตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอย่างเคร่งครัด โดยได้มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมร่วมกันเพื่อหารือเกี่ยวกับการปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการให้บริการผู้โดยสาร ณ ทสภ. โดยเฉพาะในส่วนของกระบวนการผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศให้มีความสะดวก และรวดเร็ว ซึ่งที่ผ่านมา ทอท. ได้เปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1: SAT-1) และปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ซึ่งมีแผนจะเปิดใช้งานในเดือนกรกฎาคม 2567 โดยจะทำให้ ทสภ.มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ถึง 80 ล้านคนต่อปี

นอกจากนี้ ทอท. ยังอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกของอาคารผู้โดยสาร (East Expansion) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการผู้โดยสาร และในส่วนของกระบวนการเช็กอิน ทอท. ได้แก้ปัญหาโดยการติดตั้งระบบบริการผู้โดยสารขึ้นเครื่อง (Common Use Passenger Processing System: CUPPS) ได้แก่ บริการตรวจบัตรโดยสารขึ้นเครื่อง (Common Use Terminal Equipment: CUTE) บริการเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (Common Use Self Service: CUSS) และบริการรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (Common Use Bag Drop: CUBD) เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้โดยสารในการลดเวลารอคอยคิว สำหรับบริเวณจุดตรวจหนังสือเดินทางจะปรับปรุงพื้นที่ตรวจลงตราคนเข้าเมือง (ตม.) ขาออก ชั้น 4 อาคารผู้โดยสาร ทสภ. โดยจะทำการติดตั้งเครื่อง Automated Border Control (ABC) มาใช้แทนการตรวจลงตราโดยเจ้าพนักงานดังเช่นสนามบินชั้นนำทั่วโลก ทำให้สามารถปรับปรุงพื้นที่เคาน์เตอร์ ตม.เดิมเป็นพื้นที่จุดตรวจค้นผู้โดยสารเพิ่มเติมได้อีก

การนําระบบ CUPPS มาใช้ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการผู้โดยสารให้ได้รับความสะดวกสบาย รวดเร็ว ลดระยะเวลาการรอคอย และเพิ่มความถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้นจากการใช้บริการผ่านระบบ รวมทั้งเพื่อลดความหนาแน่นในบริเวณอาคารผู้โดยสาร ซึ่งส่งผลให้ ทอท. มีภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นเหตุที่ขอปรับขึ้นค่าบริการผู้โดยสารขาออก (Passenger Service Charge: PSC) สำหรับผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ โดยปรับจาก 700 บาทต่อคน เป็น 730 บาทต่อคน และค่า PSC สำหรับผู้โดยสารขาออกภายในประเทศ ปรับจาก 100 บาทต่อคน เป็น 130 บาทต่อคน โดยจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2567 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ทอท. ได้มีการปรับขึ้นค่า PSC ครั้งล่าสุดเมื่อคราวเปิดให้บริการ ทสภ. ในปี 2549 และใช้อัตราเดิมเรื่อยมาโดยไม่ได้มีการปรับขึ้นค่า PSC เป็นเวลากว่า 17 ปีแล้ว ซึ่งรายได้จากการจัดเก็บค่า PSC กฎหมายได้กำหนดให้ผู้บริหารท่าอากาศยานนำไปใช้ในการพัฒนาท่าอากาศยาน จัดหาและปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และการบำรุงรักษาด้านความปลอดภัยท่าอากาศยานให้เป็นไปตามมาตรฐานของท่าอากาศยานในระดับสากล รวมทั้งการพัฒนาด้านเทคโนโลยีในท่าอากาศยานทุกแห่ง ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อผู้โดยสารที่จะได้รับความปลอดภัย และความสะดวกสบายจากสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่จัดไว้รองรับ ทั้งนี้ กฎหมายได้กำหนดไว้ว่าค่า PSC ไม่สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายอื่นนอกเหนือจากการอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารได้

สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมการบิน ทั้งต่อจำนวนผู้โดยสารและปริมาณเที่ยวบิน ที่ผ่านมา ทอท.ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของผลกระทบดังกล่าวที่มีต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้พิจารณาแนวทางในการกระตุ้นการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินในหลากหลายรูปแบบ

รวมถึงมีการจัดทำโครงการกระตุ้นตลาดด้านการบิน ณ ท่าอากาศยานของ AOT ทั้ง 6 แห่ง สำหรับสายการบินที่เปิดให้บริการเส้นทางการบินใหม่ (New Routes Incentive) ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่นอกเหนือจากการกลับมาเปิดให้บริการเส้นทางบินเดิมก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 เพื่อเป็นการกระตุ้นการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินให้กลับสู่สภาวะปกติ รวมถึงเพิ่มโอกาสในการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยในส่วนของเส้นทางการบินใหม่ที่สายการบินสามารถให้บริการได้เพิ่มขึ้นจากเดิมนั้น ทอท. ได้พิจารณาให้ส่วนลดค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยาน ค่าบริการที่เก็บอากาศยาน และค่าบริการใช้สะพานเทียบเครื่องบิน (Landing Charges, Parking Charges และ Boarding Bridge Charges)

โครงการกระตุ้นตลาดด้านการบินในการเปิดเส้นทางการบินใหม่ดังกล่าวประกอบด้วย

(1) โครงการ New Routes to Airports Incentive โดยที่ ทอท. ได้ตระหนักถึงความล่าช้าของการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน ภายหลังการคลี่คลายของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงปลายปี 2565 จึงได้ริเริ่มโครงการดังกล่าวมาตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2565 โดยมีระยะเวลาของโครงการ 3 ปี จนถึงวันที่ 31 ต.ค.2568 สำหรับสายการบินที่สามารถทำการเปิดเส้นทางการบินใหม่ ณ ท่าอากาศยานของ ทอท. ที่ยังไม่เคยให้บริการมาก่อน โดยเทียบกับข้อมูลทำการบินในฤดูกาลการบินของปี 2561-2562 (เส้นทางการบินทั้งหมดที่ให้บริการ ณ ท่าอากาศยานของ ทอท. ในปี 2561-2562 (1 พ.ย.2560-3 ต.ค.2562)) สายการบินจะได้ส่วนลดสำหรับเส้นทางการบินดังกล่าว

ทั้งนี้ สายการบินจะต้องเริ่มทำการบินหลังวันเริ่มตารางการบินฤดูหนาว 2022 (วันที่ 1 พ.ย.2565) และเป็นเที่ยวบินขนส่งผู้โดยสารที่เป็นเที่ยวบินประจำ โดยโครงการนี้ครอบคลุมทั้งเที่ยวบินภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมา สำหรับตารางการบินฤดูหนาวปี 2565/2566 (30 ต.ค.2565-25 มี.ค.2566) มีสายการบินเปิดเส้นทางการบินใหม่มายังท่าอากาศยานของ ทอท. เพิ่มมากขึ้นจำนวน 9 สายการบิน 10 เส้นทางบิน ส่งผลให้ ทอท. มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 26 ล้านบาท (26,627,923.13 บาท)

ตัวอย่างเส้นทางการบินใหม่ที่ท่าอากาศยานของ ทอท. ไม่เคยให้บริการมาก่อนเมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่กำหนด เช่น เส้นทางระหว่าง ทสภ. – ท่าอากาศยานแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา โดยสายการบิน Air Canada และเส้นทางระหว่าง ทภก. – ท่าอากาศยานครัสโนยาสค์ ประเทศรัสเซีย โดยสายการบิน Aeroflot

(2) โครงการ New Routes to Airlines Incentive สำหรับสายการบินที่ทำการบินในเส้นทางการบินใหม่เมื่อเปรียบเทียบกับเส้นทางการบินของสายการบินตนเองที่ทำการบินระหว่างวันที่ 1 พ.ย.2560 ถึงวันที่ 31 ต.ค.2562 โดยมีระยะเวลาของโครงการ 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2566 ถึงวันที่ 31 ต.ค.2568 ซึ่งสายการบินจะต้องเริ่มทำการบินหลังวันเริ่มตารางการบินฤดูหนาว 2023 โดยต้องเป็นเที่ยวบินแบบประจำระหว่างประเทศและภายในประเทศ รวมถึงเที่ยวบินพิเศษสำหรับเที่ยวบินขนส่งผู้โดยสาร (Passenger Flight) นอกจากโครงการกระตุ้นตลาดด้านการบินในการเปิดเส้นทางบินใหม่ทั้ง 2 โครงการแล้ว ทอท. ยังมีโครงการกระตุ้นตลาดด้านการบินหรือ Performance-Based Incentive Scheme ณ ท่าอากาศยานของ ทอท. ทั้ง 6 แห่งเพิ่มเติมหลังจากรัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวระยะเร่งด่วนด้วยมาตรการ Visa Free

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการดำเนินงานของสายการบินในการเพิ่มปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารระหว่างประเทศ โดยจะให้การสนับสนุนสายการบินที่ทำการบินในเที่ยวบินแบบประจำระหว่างประเทศ (International Scheduled Flight) รวมถึงเที่ยวบินพิเศษ (Extra Flight) และเที่ยวบินแบบไม่ประจำหรือเช่าเหมาลำระหว่างประเทศ (Charter Flight) ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท. สำหรับสายการบินที่สามารถเพิ่มเที่ยวบินนอกเหนือจากจำนวนเที่ยวบินของสายการบินตนเองตามตารางการบินที่ได้รับการอนุมัติ ณ วันที่ 8 ก.ย.2566 โดยสายการบินจะได้รับส่วนลดค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยาน 175 บาทต่อผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น 1 คน ทั้งนี้ ส่วนลดค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยานจะต้องไม่เกินร้อยละ 75 ของค่าบริการขึ้นลงของอากาศยานของเที่ยวบินส่วนเพิ่ม โดยมีระยะเวลาของโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2566-31 มี.ค.2567 รวมระยะเวลา 5 เดือน

ทั้งนี้ โครงการกระตุ้นตลาดด้านการบินทั้ง 3 โครงการจะส่งผลให้ ทอท. มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของเส้นทางการบิน จำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารที่เกิดจากการพัฒนาเส้นทางการบินใหม่ที่ยังไม่เคยมีการให้บริการมาก่อนทั้งสำหรับท่าอากาศยานของ ทอท. และสายการบิน รวมถึงการเพิ่มความถี่ของเส้นทางการบินที่เคยได้รับการอนุมัติไปแล้วอีกด้วย

นอกจากโครงการกระตุ้นตลาดด้านการบินแล้ว ทอท. ยังสนับสนุนนโยบายการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวของภาครัฐสำหรับผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท. โดยให้เลื่อนชำระส่วนต่างระหว่างค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำกับค่าผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราร้อยละ (เฉพาะกรณีที่ค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำสูงกว่าค่าผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราร้อยละ) ของเดือน พ.ย.2566-เม.ย.2567 โดยในแต่ละงวดให้ขยายระยะเวลาการชำระออกไปเป็นระยะเวลา 6 เดือน จากวันครบกำหนดชำระตามระยะเวลาปกติและแต่ละงวดให้สิทธิ์แบ่งชำระได้ 12 เดือน ซึ่งการให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการดังกล่าวเป็นเพียงการเลื่อนการชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ประกอบการออกไปเท่านั้น เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องของผู้ประกอบการเพื่อเตรียมการสำหรับการลงทุนต่างๆ ในการรองรับผู้โดยสารในปีหน้า ซึ่งไม่ใช่การลดค่าผลประโยชน์ตอบแทนแต่อย่างใด โดย ทอท. ยังคงได้รับรายได้จากค่าผลประโยชน์ตอบแทนดังกล่าวเต็มจำนวน

ทอท. พร้อมขานรับนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงคมนาคมในการพัฒนาท่าอากาศยานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการผู้โดยสาร ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารเกิดความเชื่อมั่น รวมทั้งยังได้รับประสบการณ์การเดินทางที่สะดวกสบาย รวดเร็ว อันจะช่วยขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม โดย ทอท. มีความมุ่งมั่นดำเนินงานต่างๆ ภายใต้หลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจเคียงข้างสังคมไทยและเติบโตได้อย่างยั่งยืน

 

Loading

Back to top button