“สุรพงษ์” เช็กโปรเจ็กต์ลงทุนระบบราง “อุดรธานี-หนองคาย-หนองบัวลำภู” เชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน
“สุรพงษ์” รมช.คมนาคม ลงพื้นที่ อุดรธานี-หนองคาย-หนองบัวลำภู เดินหน้านโยบาย Quick Win เร่งพัฒนาระบบโลจิสติกส์ รถไฟทางคู่พื้นที่ภาคอีสาน เชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน หนุนการค้า ท่องเที่ยว การลงทุนไทย-ลาว-จีน พร้อมลุยรถไฟความเร็วสูงเฟส 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย วงเงินลงทุน 7,212 ล้านบาท คาดสร้างแล้วเสร็จ เปิดให้บริการในปี 2571
วันนี้ (3 ธ.ค.2566 นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นำคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) และ นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ขนส่งสินค้า และรถไฟทางคู่ภาคอีสาน ในพื้นที่ จ.อุดรธานี-หนองคาย-หนองบัวลำภู ประกอบด้วย พื้นที่ย่านสถานีหนองตะไก้ สถานีนาทา สถานีหนองคาย สะพานมิตรภาพไทย-ลาว เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างเชื่อมทางรถไฟ จากสถานีหนองตะไก้ เข้าสู่พื้นที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี รวมทั้งแผนพัฒนาศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า (Transshipment Yard) สถานีนาทา และแผนพัฒนาย่านสถานีหนองคาย ที่จะเชื่อมไปยังสถานีท่านาแล้ง และเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) รองรับการขนส่งสินค้าโลจิสติกส์ผ่านแดนระหว่างไทย-ลาว-จีน โดยมีนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พร้อมด้วยผู้บริหาร รฟท. ให้การต้อนรับ
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ขนส่งสินค้า และรถไฟภาคอีสาน ในพื้นที่ จ.อุดรธานี-หนองคาย-หนองบัวลำภู ครั้งนี้ มีเป้าหมาย เพื่อต้องการขับเคลื่อนนโยบาย Quick Win ของรัฐบาล ในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ด้านระบบขนส่งโลจิสติกส์ของประเทศ ให้สามารถเชื่อมโยงการขนส่งและการค้าของไทย-ลาว-จีน ได้อย่างสะดวก ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติสก์ และเศรษฐกิจภูมิภาคในอนาคต
โครงการก่อสร้างทางรถไฟจากสถานีรถไฟหนองตะไก้ สู่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี
ทั้งนี้ ได้มีการรับฟังการบรรยายโครงการก่อสร้างทางรถไฟเพื่อใช้เป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งสินค้า จากสถานีรถไฟหนองตะไก้ เข้าสู่พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ระยะทาง 3.7 กิโลเมตร โดยโครงการนี้จะช่วยเสริมศักยภาพการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อย่างมาก ซึ่งได้เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.2566 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน พ.ค.2567
จากนั้น เดินทางโดยขบวนรถไฟไปที่สถานีนาทา ผ่านจุดตัดบริเวณทางแยกบ้านจั่น ซึ่งเป็นแนวเส้นทางก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย โดยได้มอบนโยบายให้ รฟท. แก้ไขปัญหาบริเวณจุดตัดทางรถไฟ กับ ทล. 216 บริเวณแยกบ้านจั่น โดยปรับรูปแบบการสร้างรถไฟทางคู่ช่วงดังกล่าว เป็นทางยกระดับข้ามจุดตัดทางหลวง 216 อยู่ในระดับที่ 2 รองจากรถไฟความเร็วสูง พร้อมกับคงทางรถไฟทางเดี่ยวระดับพื้นดิน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก และแก้ปัญหาการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดเสมอระดับทางรถยนต์-รถไฟ ให้กับพี่น้องประชาชน
โครงการพัฒนาย่านสถานี และศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา และย่านกองเก็บตู้สินค้า
ในโอกาสนี้ ยังได้รับฟังบรรยายโครงการพัฒนาย่านสถานี และศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา และย่านกองเก็บตู้สินค้า ขนาดเนื้อที่ 379 ไร่ ซึ่งเป็นโครงการที่จะช่วยขยายขีดความสามารถทางการขนส่งของจังหวัดหนองคาย ให้สามารถเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ระหว่างประเทศไทย-ลาว-จีน โดยขณะนี้ รฟท. ได้ให้ที่ปรึกษาโครงการ ดำเนินการทบทวนรูปแบบการร่วมลงทุนให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้ก่อสร้างไปพร้อมกับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย โดยจะใช้กรอบวงเงินของโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 มูลค่าการร่วมลงทุน 7,212 ล้านบาท ล่าสุด โครงการฯอยู่ระหว่างการเสนอให้คณะกรรมการ รฟท. ให้ความเห็นชอบ หลังจากนั้นจะนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนเห็นชอบหลักการและเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินโครงการร่วมลงทุน และคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2571
ติดตามโครงการพัฒนา เชื่อมโยงระบบขนส่งโลจิสติกส์ และรถไฟ ไทย-สปป.ลาว
ช่วงบ่ายได้นำคณะเดินทางไปยังบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว เพื่อติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างสะพานรถไฟแห่งใหม่ ซึ่งฝ่ายไทย และ สปป.ลาว จะร่วมลงทุนก่อสร้างร่วมกันในอาณาเขตของแต่ละฝ่าย ซึ่งขณะนี้ รฟท. อยู่ระหว่างการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการออกแบบรายละเอียดโครงการ มีกรอบระยะเวลาดำเนินการประมาณ 12 เดือน
โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย
ต่อมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เดินทางถึงด่านพรมแดนหนองคาย พร้อมรับฟังบรรยายความคืบหน้าโครงการลงทุนก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ซึ่งล่าสุด ครม. ได้อนุมัติให้ รฟท. ดำเนินการก่อสร้างโครงการไปแล้วเมื่อวันที่ 16 ต.ค.2566 และมีกำหนดเวลาดำเนินการในเดือน พ.ค.2567 ระยะเวลาดำเนินการ 36 เดือน คาดจะแล้วเสร็จประมาณเดือน พ.ค.2570
ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุง รายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) และอยู่ในขั้นตอนการขออนุมัติโครงการ คาดว่าเปิดให้บริการปี 2572
ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการระบบโลจิสติกส์และรถไฟทางคู่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเป็นหัวใจสำคัญในการช่วยสนับสนุนการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของไทยให้มีความสะดวก รวดเร็ว ส่งเสริมการเติบโตทางการท่องเที่ยว การค้าระหว่างประเทศ การค้าชายแดน การค้าผ่านแดนให้ขยายตัวได้อย่างมั่นคง เกิดการกระจายรายได้ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ตลอดแนวเส้นทาง และขับเคลื่อนให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งคมนาคมของภูมิภาคได้ตามเป้าหมายของรัฐบาล