เช็กความเรียบร้อย เปิดวิ่งวันแรก รถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงสถานีบ้านคูบัว จ.ราชบุรี ถึงสถานีสะพลี จ.ชุมพร 348 กม.
“สุรพงษ์” ลุยตรวจความพร้อมเปิดวันแรกเดินรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร ระหว่างสถานีบ้านคูบัว จ.ราชบุรี ถึงสถานีสะพลี จ.ชุมพร ระยะทาง 348 กม. ลดค่าขนส่งเพิ่มความปลอดภัย ถึงจุดหมายเร็วขึ้น 1.30 ชม. คาดเปิดใช้งานเต็มระยะปี 2567
วันนี้ (15 ธ.ค.2566) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย น.ส.ณภัทรา กมลรักษา เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมเปิดเดินรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร ณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้เป็นการตรวจความพร้อมเปิดเดินรถไฟทางคู่ สายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร ตามนโยบาย Quick Win ของรัฐบาล เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชน และการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงทุกภูมิภาค ซึ่งในวันนี้ได้เปิดใช้ทางคู่ในช่วงแรกระหว่างสถานีบ้านคูบัว จ.ราชบุรี ถึงสถานีสะพลี จ.ชุมพร รวมระยะทาง 348 กิโลเมตร ซึ่งจะช่วยลดเวลาในการเดินทาง
โดยตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไป การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ปรับเวลาเดินรถสายใต้ ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารใช้เวลาในการเดินทางน้อยลง และถึงจุดหมายปลายทางเร็วขึ้น ประมาณ 1.30 ชั่วโมง เป็นการอำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชนรวมทั้งการขนส่งสินค้า โดยไม่ต้องเสียเวลาในการรอหลีกขบวนรถ เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเดินรถ ทำให้สามารถรองรับขบวนรถได้เพิ่มขึ้น 2 เท่า ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์ รวมทั้งเพิ่มความปลอดภัย ลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางเสมอระดับรถไฟ-รถยนต์ โดยยกเลิกทางข้ามเสมอระดับทางรถไฟ และเปิดใช้สะพานกลับรถ (U-Turn)/สะพานข้ามทางรถไฟ (Overpass)
สำหรับในระยะต่อไป จะเปิดเดินรถทางคู่ช่วงสถานีนครปฐม-สถานีบ้านคูบัว ระยะทาง 57 กิโลเมตร และช่วงสถานีสะพลี-สถานีชุมพร ระยะทาง 15 กิโลเมตร ภายในเดือน เม.ย.2567
นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการสำคัญ ดังนี้
– โครงการรถไฟทางคู่สายใต้ ระยะที่ 2 จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย 1.ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กิโลเมตร 2.ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กิโลเมตร และ 3.ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร
ทั้งนี้ ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมโครงการ (Feasibility Study) ออกแบบรายละเอียด (Detailed Design) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ความเห็นชอบรายงาน EIA เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบัน รฟท. อยู่ระหว่างเตรียมการเสนอขออนุมัติดำเนินโครงการต่อคณะรัฐมนตรี โดยจะเสนอขออนุมัติช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ เป็นลำดับแรก
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการขนส่งทางราง ให้เป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ ที่มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และมีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ
การดำเนินการและแผนการเชื่อมต่อกับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) โดยมีการพัฒนาระบบขนส่งสินค้าเพื่อเชื่อมโยงท่าเรือทั้งสองแห่งด้วยทางรถไฟและทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) เพื่อให้สอดคล้องตามแผนบูรณาการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเชื่อมต่อแนวเส้นทางรถไฟทางคู่
สำหรับโครงการก่อสร้างทางรถไฟช่วงชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง อยู่ระหว่างศึกษาโครงการและผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่บริเวณแหลมริ่ว ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน ผ่าน อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร และมีจุดสิ้นสุดที่บริเวณแหลมอ่าวอ่าง ต.ราชกรูด อ.เมืองระนอง จ.ระนอง ซึ่งโครงการฯ จะเพิ่มขีดความสามารถด้านการขนส่งสินค้า ผู้โดยสาร เพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของประเทศ เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพต่อการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงฐานการผลิตในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กับประตูการค้าภาคใต้ เพื่อส่งต่อสินค้าไปยังกลุ่มประเทศ ตะวันออกกลาง ยุโรป
-การพัฒนาทางรถไฟเชื่อมนิคมอุตสาหกรรม โดยการก่อสร้างย่านสถานีบริเวณจุดเชื่อมต่อประแจและทางแยกสถานีนาผักขวง โครงการ SSI’s Distribution Hub (ด้านเหนือ) และโครงการ SSI’s Logistic Terminal (ด้านใต้) ประเภททางเดี่ยว ระยะทาง 2.138 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมโยงระบบการขนส่งทางรางสู่อุตสาหกรรมเหล็ก และท่าเรือน้ำลึก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้า และช่วยลดต้นทุนในการขนส่งสินค้า ทั้งอุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมอื่น ๆ และช่วยลดปัญหาการจราจรการขนส่งทางบกในพื้นที่ โดยเป็นหนึ่งในแผนงานการพัฒนาทางรถไฟเชื่อมต่อนิคมอุตสาหกรรม ระยะเร่งด่วน (พ.ศ.2566-2570) ซึ่งกรมการขนส่งทางรางได้ดำเนินโครงการศึกษาความเป็นไปได้และจัดทำแผนการพัฒนาโครงข่ายรถไฟ ให้ครอบคลุม และเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศและรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ (R-MAP) ปัจจุบันการพัฒนาทางรถไฟเชื่อมนิคมเขตอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างเอกชนพิจารณาศึกษาความเหมาะสมก่อนดำเนินการต่อไป
กระทรวงคมนาคมเร่งพัฒนาโครงการก่อสร้างรถไฟทุกโครงการให้แล้วเสร็จและเปิดให้บริการทันตามแผนที่กำหนด เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางแก่ประชาชน ตลอดจนช่วยลดต้นทุนการขนส่งเพิ่มประสิทธิภาพโลจิสติกส์ รวมทั้งกระจายการเติบโตทางเศรษฐกิจไปยังภูมิภาคตามยุทธศาสตร์ชาติของประเทศ สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางรางของภูมิภาคอาเซียน