“มนพร” เช็กความพร้อมโครงข่ายคมนาคมทางน้ำ @ชลบุรี อำนวยความสะดวกปลอดภัยปีใหม่ 67
“มนพร” ตรวจโครงข่ายคมนาคมทางน้ำในพื้นที่ จ.ชลบุรี เตรียมความพร้อมการอำนวยความสะดวกปลอดภัยช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 “ท่าเรือปลอดภัย เรือปลอดภัย คนปลอดภัย”
วันนี้ (16 ธ.ค.2566) นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ จ.ชลบุรี ติดตามการเตรียมความพร้อมการรักษาความปลอดภัยทางน้ำช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และโครงการเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียน พร้อมด้วย นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงคมนาคม นายสรพันธ์ คุณากรวงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายกริชเพชร ชัยช่วย ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) และนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2566
นางมนพร กล่าวว่า เมืองพัทยา เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก สามารถนำรายได้เข้าสู่ประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรมอีกส่วนหนึ่ง รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เกิดความมั่งคั่งและยั่งยืน จึงจำเป็นต้องมีบุคลากรปฏิบัติหน้าที่ด้านความปลอดภัยเพื่อให้นักท่องเที่ยวเกิดความเชื่อมั่น และมีความพึงพอใจในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก การบูรณาการของหน่วยงานราชการและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่อย่างเข้มแข็ง จะสามารถทำให้พันธกิจของรัฐบาลสำเร็จลุล่วงไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับการเตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางและท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ระหว่างวันที่ 27 ธ.ค.2566-3 ม.ค.2567 กรมเจ้าท่า (จท.) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านความปลอดภัยทางน้ำ ได้จัดเตรียมแผนความปลอดภัยและออกประกาศ เรื่อง มาตรการความปลอดภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ประกาศเตือนให้ใช้ความระมัดระวังในการเดินเรือและใช้เรือ พร้อมทั้งจัดตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสภาพความปลอดภัยของเรือโดยสาร เรือภัตตาคาร และท่าเทียบเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา จัดตั้งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางน้ำ 51 ศูนย์ (ส่วนกลาง 2 ศูนย์ ส่วนภูมิภาค 49 ศูนย์) และจุดอำนวยความสะดวกและประชาสัมพันธ์ประจำท่าเทียบเรือ 80 แห่งทั่วประเทศ พร้อมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองทัพเรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มูลนิธิร่วมกตัญญู เครือข่ายอาสาวารี จัดเจ้าหน้าที่พร้อมเรือตรวจการณ์ และเจ้าหน้าที่ประจำท่าเทียบเรือเพื่อคอยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว
ในโอกาสนี้ได้ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของสำนักงานควบคุมการจราจรและความปลอดภัยทางทะเล (VTS) พร้อมรับฟังบรรยายสรุปการควบคุมการจราจรทางทะเลเขตท่าเรือแหลมฉบัง และติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 หลังจากที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน เมื่อเดือน พ.ย.2566 โดยได้มอบนโยบายให้เร่งดำเนินโครงการฯ อย่างเร่งด่วน เพื่อเพิ่มความมั่นใจในศักยภาพของประเทศไทยและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน
ขณะนี้การดำเนินงานมีความคืบหน้ารวม 15.34% ล่าช้าจากแผน 1.69% ซึ่งกิจการร่วมค้า CNNC ได้บริหารจัดการเพื่อเร่งรัดงานก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนด้วยการเพิ่มจำนวนเครื่องจักร ทำให้เพิ่มปริมาณการขุดลอกจากเดิม 40,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน เป็น 60,000-75,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน เพิ่มขีดความสามารถการลำเลียงหินจากเดิม 2,500 ลูกบาศก์เมตร/วัน เป็นมากกว่า 10,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน รวมทั้งเพิ่มจำนวนผู้ปฏิบัติงานและผู้เชี่ยวชาญด้านงานขุดลอก เพื่อเป็นที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการโครงการ
เมื่อดำเนินโครงการฯ แล้วเสร็จจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าจาก 11 ล้านทีอียู/ปี เป็น 18 ล้านทีอียู/ปี เพิ่มสัดส่วนสินค้าผ่านท่าทางรถไฟของท่าเรือแหลมฉบังจาก 7% เป็น 30% และช่วยสนับสนุนการลดต้นทุนการขนส่งโดยรวมของประเทศจาก 14% ของ GDP เหลือ 12% ของ GDP
จากนั้นได้เดินทางไปท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย เพื่อตรวจพื้นที่ตามมาตรการรักษาความปลอดภัยทางน้ำช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 โดยได้มอบหมายให้ จท. ควบคุม กำกับดูแลการบริหารจัดการท่าเรือและเรือของผู้ประกอบการ จัดเจ้าหน้าที่ดูแลอำนวยความสะดวกประจำท่าเทียบเรือ พร้อมทั้งกำชับให้เจ้าของเรือ ผู้ควบคุมเรือ ตรวจสภาพอุปกรณ์ประจำเรือ อุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำให้พร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา ห้ามบรรทุกผู้โดยสารเกินกว่าที่ได้รับอนุญาตและปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ได้ตรวจพื้นที่โครงการเสริมทรายชายหาดจอมเทียนป้องกันการกัดเซาะชายหาดทะเลจอมเทียน ระยะที่ 1 ความยาว 3,575 เมตร ความกว้างประมาณ 50.4-51.5 เมตร ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือน พ.ย.2566 และพื้นที่เสริมทราย ระยะที่ 2 ความยาว 2,855 เมตร บริเวณพัทยาใต้ อ.บางละมุง เนื่องจากเดิมพื้นที่บริเวณชายหาดจอมเทียนไม่มีหาดทราย เพราะถูกน้ำทะเลกัดเซาะ ประชาชนและนักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินเล่นหรือทำกิจกรรมริมทะเลได้ การดำเนินโครงการเสริมทรายชายหาดจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวของเมืองพัทยา
เนื่องจากขนาดความกว้างของชายหาดที่เพิ่มขึ้น ทำให้สามารถรองรับกิจกรรมทางทะเลได้ทั้งกีฬาบนชายหาดและกิจกรรมสันทนาการทางน้ำได้เป็นอย่างดี พร้อมนี้ได้สั่งการให้ จท. ติดตามการถมทรายบริเวณเกาะสีชัง ซึ่งอยู่ในช่วงการพิจารณางบประมาณ ปี 2568 และบูรณาการร่วมกับ กทท. เกี่ยวกับการขุดร่องเรือน้ำลึก เพื่อรองรับการเพิ่มสล็อตของเรือครูซในอนาคตด้วย