Transport

เซ็นทรัลอินเตอร์พัฒนา ควักจ่าย!! ค่าเช่าที่ดินสามเหลี่ยมย่านพหลโยธินปี 67 ให้ รฟท. 1,387 ล้านบาท

รฟท. รับชำระค่าเช่าการใช้ประโยชน์ที่ดิน บริเวณที่ดินสามเหลี่ยมย่านพหลโยธิน จากบริษัท เซ็นทรัลอินเตอร์พัฒนา จำกัด ประจำปี 2567 จำนวนกว่า 1,387 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2566 นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นผู้แทน รฟท. รับเช็คค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ศูนย์การค้าบริเวณสามเหลี่ยมย่านพหลโยธินประจำปี 2567 จากนายปัณฑิต มงคลกุล ประธานกรรมการบริหารสายบัญชีการเงิน นายสุภรัฐ จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และนายชนิตร ชาญชัยณรงค์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส เป็นผู้แทนจากบริษัท เซ็นทรัลอินเตอร์พัฒนา จำกัด ซึ่งเป็นค่าใช้ประโยชน์จากการใช้พื้นที่ของ รฟท. ในรอบระยะเวลา 1 ปี (วันที่ 19 ธ.ค.2566-18 ธ.ค.2567) เป็นเงิน 1,387,603,000 บาท ณ ห้องประชุมคณะกรรมการ รฟท. ชั้น 2 ตึกบัญชาการรถไฟ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ รฟท. เปิดเผยว่า การได้รับชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนครั้งนี้ เป็นไปตามที่ รฟท. ได้ทำสัญญาให้สิทธิใช้ประโยชน์ศูนย์การค้าบริเวณสามเหลี่ยมย่านพหลโยธิน จำนวนพื้นที่ 47.22 ไร่ ระหว่าง รฟท. กับ บริษัท เซ็นทรัลอินเตอร์พัฒนา จำกัด ตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค.2551 ในกรอบระยะเวลาการใช้ประโยชน์ 20 ปี (วันที่ 19 ธ.ค.2551-18 ธ.ค.2571)

ทั้งนี้มีผลตอบแทนรวมตลอดอายุสัญญาเป็นเงิน 21,298,833,000 บาท แบ่งออกเป็นรายได้จากค่าเช่ารายปี 18,687,730,000 บาท และค่าผลประโยชน์ตอบแทนการได้สิทธิ์ 2,611,103,000 บาท โดยกำหนดชำระค่าผลประโยชน์ศูนย์การค้าบริเวณสามเหลี่ยมย่านพหลโยธิน ภายในวันที่ 19 ธ.ค. ของทุกปี ซึ่งจะต้องชำระให้แก่ รฟท. เป็นรายปี รวมทั้งหมด 20 งวด ตลอดระยะเวลาสัญญา

สำหรับการชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทน ตามสัญญาให้สิทธิ์ใช้ประโยชน์ศูนย์การค้า บริเวณสามเหลี่ยมย่านพหลโยธิน ประจำปี 2567 ครั้งนี้ เข้าสู่ปีที่ 16 ที่ รฟท. จะได้รับจากบริษัท เซ็นทรัลอินเตอร์ พัฒนา จำกัด โดยคิดเป็นจำนวนเงิน 1,387,603,000 บาท ส่งผลให้นับตั้งแต่เริ่มสัญญาจนถึงปัจจุบัน ระหว่างปี 2551-2567 รฟท. ได้รับชำระค่าผลประโยชน์แล้วทั้งสิ้น 13,724,144,000 บาท

ที่ผ่านมา รฟท. ได้วางกรอบแนวทางการดำเนินงาน และการบริหารที่ดินของ รฟท. ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ พื้นที่ Core Business เป็นพื้นที่ย่านสถานี ที่ทำการ เขตทางรถไฟ และพื้นที่Non-Core Business ที่สามารถนำไปทำประโยชน์ได้ โดยในอนาคต รฟท. จะดำเนินการตามแผนงานที่จะนำพื้นที่ Non-Core Business มาพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะดำเนินการออกจัดประโยชน์ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับ รฟท. ต่อไป

Loading

Back to top button