Transport

ร่วมหารือแนวทางเดินข้ามทางรถไฟระหว่างชานชานชาลาสูงในย่านสถานี

กรมราง หารือ “แนวทางการเดินข้ามทางรถไฟระหว่างชานชานชาลาสูงในย่านสถานี” เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการระบบรางทุกกลุ่ม ลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุขบวนรถไฟชนคนเดินข้ามในย่านสถานี

เมื่อวานนี้ (25 ธ.ค.2566) นายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เป็นประธานการประชุม เรื่อง “แนวทางการเดินข้ามทางรถไฟระหว่างชานชานชาลาสูงในย่านสถานี” โดยมีนายอนันต์ เจนงามกุล วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และเจ้าหน้าที่ รฟท. ประธานภาคีเครือข่ายเข้าถึงและเท่าเทียม ผู้แทนสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ และผู้แทนภาคีภาคประชาชน และเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางราง (ขร.) เข้าร่วมประชุม

โดยหลังจากที่ ขร. ได้รับการร้องเรียนจากผู้ใช้เฟซบุ๊ก เรื่องการออกแบบสถานีรถไฟสวนสนประดิพัทธ์ และทางข้ามฟากที่สถานีรถไฟเพชรบุรี เจ้าหน้าที่ ขร.ได้ลงพื้นที่บริเวณสถานีสวนสนประดิพัทธ์และสถานีวังก์พง เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2566 พบว่า สถานีวังก์พง ได้ติดตั้งลิฟต์ไฮดรอลิคบริเวณทางข้ามทางรถไฟภายในสถานี สำหรับผู้ใช้บริการวีลแชร์ ซึ่งทางข้ามอยู่เสมอระดับกับทางรถไฟช่วงกลางของสถานีดังกล่าว โดยอยู่ระหว่างการทดสอบใช้งานก่อนเปิดใช้งานจริง

โดย ขร.พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า การติดตั้งลิฟต์ไฮดรอลิคสำหรับผู้ใช้บริการวีลแชร์ ซึ่งอยู่เสมอระดับกับทางรถไฟ เป็นทางเดินข้ามทางรถไฟภายในสถานี อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้บริการวีลแชร์และผู้ใช้บริการระบบรางที่จะเดินข้ามชานชานชลา และมีความเสี่ยงที่ขบวนรถไฟจะชนคนเดินเท้าบริเวณย่านสถานี จึงเห็นควรให้ รฟท. พิจารณาดำเนินการ ดังนี้

1.ระงับการติดตั้งลิฟต์ไฮดรอลิคบริเวณทางข้ามทางรถไฟภายในสถานี สำหรับผู้ใช้บริการวีลแชร์ ในทุกๆ สถานี และบริเวณที่ รฟท. คาดว่าจะติดตั้งเพิ่มเติมในอนาคต

2.ออกแบบก่อสร้างทางข้ามทางรถไฟต่างระดับภายในสถานีสำหรับผู้ใช้บริการ ในรูปแบบทางลอดหรือสะพานยกระดับที่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกให้กับคนพิการ และไม่ใช่ทางเสมอระดับกับทางรถไฟ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขบวนรถไฟชนผู้ใช้บริการในย่านสถานี

ทั้งนี้ ในที่ประชุมมีความเห็นตามที่ ขร. เสนอ โดยมีมติเห็นควรให้ รฟท. พิจารณาระงับการติดตั้งลิฟต์ไฮดรอลิค รูปแบบเป็นแผงยก (Panel Lift) ในทุก ๆ สถานี และออกแบบทางข้ามทางรถไฟที่ไม่ใช่ทางเสมอระดับทางรถไฟ ก่อนรับฟังความคิดเห็นและก่อสร้างต่อไป รวมทั้งพิจารณาปรับปรุงแบบ และออกแบบก่อสร้างทางข้ามทางรถไฟต่างระดับภายในสถานีสำหรับผู้ใช้บริการ ในรูปแบบทางลอดหรือสะพานลอยยกระดับที่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกให้กับคนพิการ ที่ไม่ใช่ทางเสมอระดับกับทางรถไฟ สำหรับสถานีรถไฟทุกขนาดที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง

รวมถึงทางรถไฟสายใหม่ 2 เส้นทางและโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2  ส่วนสถานีที่ดำเนินการก่อสร้างเสร็จไปแล้ว ขอ รฟท. ขอรับการจัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อดำเนินการก่อสร้างทางข้ามทางรถไฟระหว่างชานชานชาลาสูงในย่านสถานีในรูปแบบต่างระดับ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขบวนรถไฟชนผู้ใช้บริการระบบรางในย่านสถานีต่อไป และยกระดับมาตรฐานสถานีให้มีความเป็นสากลมากขึ้น

 

Loading

Back to top button