“กรมราง” รองรับการเดินทางประชาชน พร้อมร่วมกิจกรรม “คาวท์ดาวน์” ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
“กรมราง” หารือผู้ให้บริการระบบรางเตรียมพร้อมรองรับการเดินทางของประชาชนกลับภูมิลำเนา พร้อมร่วมกิจกรรม “คาวท์ดาวน์” ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 กำชับหน่วยงานด้านระบบรางและผู้ให้บริการระบบรางตระหนักและให้ความสำคัญในด้านความปลอดภัยในการทำงาน
วันนี้ (26 ธ.ค.2566) ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับและบริหารจัดการระบบขนส่งทางราง ครั้งที่ 5/2566 ร่วมกับหน่วยงานผู้ให้บริการระบบรางที่เกี่ยวข้อง โดยในที่ประชุมฯ ได้มีการหารือประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระบบขนส่งทางรางที่มีผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการ รวมทั้งเตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางของประชาชนกลับภูมิลำเนาและร่วมกิจกรรม Countdown ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 โดยสรุปประเด็นสำคัญ ดังนี้
สถิติเหตุขัดข้องรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเดือน พ.ย.-ธ.ค.2566 พบว่า ในเดือน พ.ย.2566 มีเหตุขัดข้องทั้งหมด 16 ครั้ง สาเหตุเกิดจากระบบเบรก 5 ครั้ง ระบบขับเคลื่อน 3 ครั้ง จุดสับราง 3 ครั้ง ระบบอาณัติสัญญาณ 2 ครั้ง ระบบประตูรถ 1 ครั้ง ระบบจ่ายกระแสไฟฟ้า 1 ครั้ง และอื่นๆ 1 ครั้ง และในเดือนธันวาคม 2566 (ตั้งแต่วันที่1-20 ธ.ค.66) พบเหตุขัดข้อง 6 ครั้ง สาเหตุเกิดจากระบบขับเคลื่อน 2 ครั้ง ระบบประตูรถ 2 ครั้ง ระบบจ่ายกระแสไฟฟ้า 1 ครั้ง และจุดสับราง 1 ครั้ง
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้มีการหารือถึงแนวทางและมาตรการป้องกันอุบัติเหตุ โดยพิจารณากรณีตัวอย่างของเหตุรางนำไฟฟ้า (conductor rail) ที่ทำหน้าที่จ่ายกระแสไฟฟ้าของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูหลุดร่วง เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2566 เวลา 04.45 น. และเหตุการณ์เหล็กเส้นกำแพงกันดิน (D-Wall) ร่วงหล่นขณะปฏิบัติงานในพื้นที่ก่อสร้างสถานีวงเวียนใหญ่ของโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2566 เวลาประมาณ 08.00 น.
โดย ขร. ได้กำชับ รฟม. ให้กำกับดูแลโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง พร้อมทั้งเคร่งครัดในทุกมาตรการด้านความปลอดภัยให้เป็นไปตามหลักมาตรฐานวิศวกรรม และดำเนินการตามขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ปลอดภัย รวมถึงการเพิ่มความเข้มข้นในการเข้าปฏิบัติงานภายในพื้นที่เขตระบบรถขนส่งทางรางและเขตปลอดภัยระบบขนส่งทางรางเพื่อให้มีความปลอดภัย โดยสร้างความตระหนักและให้ความสำคัญในด้านความปลอดภัยในการทำงานที่มีความเสี่ยงอันตรายต่อชีวิต
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาหารือการเตรียมความพร้อมในการให้บริการเดินรถไฟฟ้า และการบริหารจัดการในกรณีที่ผู้โดยสารหนาแน่นภายในสถานีรถไฟฟ้า โดยเฉพาะวันที่ 28 และ 31 ธ.ค.2566 ซึ่งคาดว่าจะมีประชาชนใช้บริการเป็นจำนวนมาก บริเวณสถานีที่อยู่ใกล้เคียงสถานที่จัดกิจกรรมคาวท์ดาวน์ หรือ Countdown ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 เช่น สถานีเจริญนคร (G2) รถไฟฟ้าสายสีทอง และรถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีชิดลม (E1) สถานีสยาม (CEN) และสถานีสะพานตากสิน (S6)
รวมถึงสถานีที่เป็นจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสองสายทาง (Interchange station) โดยมีการจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกและประชาสัมพันธ์ การเพิ่มจุดขายบัตรโดยสารเพิ่มเติม การปรับทิศทางประตูจัดเก็บค่าโดยสารให้สอดคล้องกับปริมาณผู้โดยสาร รวมทั้งการบริหารจัดการผู้โดยสารโดยทำ Crowd Control ที่สถานี เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้โดยสาร ควบคู่กับเพิ่มความถี่ของขบวนรถไฟฟ้าในช่วงเวลาที่มีผู้โดยสารหนาแน่น โดยในวันที่ 31 ธ.ค.2566 รถไฟฟ้าทุกเส้นทางขยายเวลาการให้บริการจนถึงเวลา 02.00 น. ของวันที่ 1 ม.ค.2567
นอกจากนี้ ในส่วนของรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงได้ขยายเวลาการเปิดให้บริการจากเวลา 05.00 น. เป็นเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 04.00 น. ตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค.2566 ถึง 2 ม.ค.2567 รวม 5 วัน เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567
โดยที่ประชุมขอความร่วมมือผู้ให้บริการระบบรางดำเนินการบริหารจัดการผู้โดยสารและการเดินรถตามแผนงานและแนวทางที่ได้หารือร่วมกัน พร้อมทั้งมอบหมายให้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) ประสานงานกับผู้จัดกิจกรรมที่ห้างสรรพสินค้าไอคอนสยาม รวมทั้งประสานกรุงเทพมหานครและตำรวจในพื้นที่เพื่อบริหารจัดการประชาชนที่เดินเท้าเข้าร่วมกิจกรรมบริเวณสถานีสยามและสถานีชิดลมกับห้างสรรพสินค้า Central World และสยามพารากอน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการระบบรางต่อไป ทั้งนี้ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ขร. จะสุ่มลงพื้นที่ตรวจสอบการดำเนินงานตามมาตรการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567