กรมราง!! เผยวันปีใหม่ (1 ม.ค.67) มีผู้ใช้บริการรถไฟคึกคัก 1 แสน คน-เที่ยว
กรมราง!! เผยวันปีใหม่ (1 ม.ค.67) มีผู้ใช้บริการรถไฟกว่า 1 แสน คน-เที่ยว ส่งผลให้มีผู้ใช้ระบบรางภาพรวมกว่า 1 ล้านคน-เที่ยว ขณะที่ยอดเดินทางสะสม 4 วัน นั่งระบบรางพุ่ง 4.67 ล้านคน-เที่ยว พร้อมประสานผู้ให้บริการระบบรางเพิ่มขบวนรถและความถี่รถไฟฟ้ารองรับการเดินทางกลับของประชาชน
วันนี้ (2 มกราคม 2567) ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า เมื่อวาน (1 ม.ค.2567) เป็นวันขึ้นปีใหม่ 2567 มีประชาชนจำนวนมากใช้บริการในระบบขนส่งทางรางเดินทางกลับจากต้นทางในภูมิภาคต่างๆ เพื่อเดินทางมาสู่ปลายทางกรุงเทพมหานคร ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดการตกค้างของผู้โดยสารจากต้นทางภูมิภาค จึงได้ประสานและเน้นย้ำไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยทาง รฟท. ได้จัดให้มีการพ่วงตู้ไปกับขบวนรถไฟที่มีผู้โดยสารหนาแน่น และจัดขบวนรถเสริมพิเศษจากต้นทาง ในวันที่ 1 ม.ค.2567 จำนวน 4 ขบวน ได้แก่ ขบวน 6 เชียงใหม่-กรุงเทพอภิวัฒน์ ขบวน 962 ศิลาอาสน์-กรุงเทพอภิวัฒน์ ขบวน 934 อุบลราชธานี-กรุงเทพอภิวัฒน์ และขบวน 936 อุดรธานี-กรุงเทพอภิวัฒน์
และวันนี้ (วันที่ 2 ม.ค.2567) จัดขบวนพิเศษช่วยการโดยสาร 1 ขบวน คือ ขบวน 934 อุบลราชธานี-กรุงเทพอภิวัฒน์ นอกจากนี้ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ได้ขยายระยะเวลาการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) จากเวลา 05.00 น. เป็นเวลา 04.00 น. จนถึงวันที่ 2 ม.ค.2567 รวมทั้ง ประสานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และหน่วยงานผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าจัดเตรียมความพร้อมของขบวนรถไฟฟ้าสำหรับเสริมเที่ยววิ่งในช่วงที่มีประชาชนหนาแน่น เพื่อรองรับการเดินทางของพี่น้องประชาชนที่เดินทางกลับกรุงเทพมหานครมากับขบวนรถไฟทางไกลและรถโดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ที่จะมาจอดหยุดรับส่งผู้โดยสารที่บริเวณประตู 3 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางบูรณาการณ์แบบไร้รอยต่อซึ่งมีลักษณะในรูปแบบ “รางต่อรถ และ รถต่อราง” อีกทั้งยังเป็นทางเลือกและรองรับในการเดินทางให้แก่ผู้ใช้บริการมากยิ่งขึ้น
ดร.พิเชฐ กล่าวต่อว่า เมื่อวาน (1 ม.ค.2567) เป็นวันที่ 4 ของวันหยุดต่อเนื่องของเทศกาลปีใหม่ 2567 มีประชาชนใช้บริการระบบรางรวม 1,011,680 คน-เที่ยว ประกอบด้วย รถไฟระหว่างเมืองของ รฟท. ให้บริการรวม 211 ขบวน (รวมเสริม 4 ขบวน รองรับผู้โดยสาร 2,843 คน) มีผู้ใช้บริการรวม 100,024 คน-เที่ยว แบ่งเป็น ผู้โดยสารเชิงพาณิชย์ 42,075 คน-เที่ยว และผู้โดยสารเชิงสังคม 57,949 คน-เที่ยว ซึ่งพบว่า ผู้โดยสารสายใต้ใช้บริการมากสุดถึง 28,246 ตน-เที่ยว (โดยมีผู้โดยสารขาออก 13,286 คน-เที่ยว และขาเข้า 14,960 คน-เที่ยว) รองลงมาคือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ 26,057 คน-เที่ยว (ขาออก 10,773 คน-เที่ยว และขาเข้า 15,284 คน-เที่ยว) สายเหนือ 20,016 คน-เที่ยว (ขาออก 8,913 คน-เที่ยว ขาเข้า 11,103 คน-เที่ยว) สายตะวันออก 11,683 คน-เที่ยว (ขาออก 4,924 คน-เที่ยว ขาเข้า 6,759 คน-เที่ยว) และสายมหาชัยและแม่กลอง 14,022 คน-เที่ยว (ขาออก 7,352 คน-เที่ยว ขาเข้า 6,670 คน-เที่ยว)
และระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (รวมรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง) มีผู้ใช้บริการรวม 911,656 คน-เที่ยว ประกอบด้วย Airport Rail Link 47,876 คน-เที่ยว สายสีแดง 19,532 คน-เที่ยว (รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลต่อสายสีแดงฟรี 5 คน) สายฉลองรัชธรรม(สีม่วง) 33,227 คน-เที่ยว สายเฉลิมรัชมงคล(สีน้ำเงิน) 267,711 คน-เที่ยว สายสีเหลือง 30,088 คน-เที่ยว สายสีชมพู 46,532 คน-เที่ยว และรถไฟฟ้าบีทีเอสสีเขียว (สายสุขุมวิทและสายสีลม) จำนวน 460,182 คน-เที่ยว และสีทองจำนวน 6,508 คน-เที่ยว โดยไม่มีเหตุรถไฟฟ้าขัดข้อง
ดร.พิเชฐ กล่าวอีกว่า จำนวนผู้ใช้บริการสะสม 4 วัน (29 ธ.ค.2566-1 ม.ค.2567) มีผู้ใช้บริการระบบรางรวมทั้งสิ้น 4,675,791 คน-เที่ยว ประกอบด้วย รถไฟระหว่างเมืองของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีผู้ใช้บริการรวม 351,442 คน-เที่ยว แบ่งเป็น ผู้โดยสารเชิงพาณิชย์สะสม 146,814 คน-เที่ยว และผู้โดยสารเชิงสังคมสะสม 204,628 คน-เที่ยว โดยมีผู้โดยสารขาออกสะสม 179,081 คน-เที่ยว และขาเข้า 172,361 คน-เที่ยว ซึ่งพบว่า สายใต้มีผู้ใช้บริการมากที่สุดสะสม 101,590 คน-เที่ยว (สะสมขาออก 51,420 คน-เที่ยว และขาเข้า 50,170 คน-เที่ยว) รองลงมาคือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ 93,549 คน-เที่ยว (ขาออก 48,641 คน-เที่ยว และขาเข้า 44,908 คน-เที่ยว) สายเหนือ 70,765 คน-เที่ยว (ขาออก 35,556 คน-เที่ยว ขาเข้า 35,209 คน-เที่ยว) สายตะวันออก 45,662 คน-เที่ยว (ขาออก 23,407 คน-เที่ยว ขาเข้า 22,255 คน-เที่ยว) และสายมหาชัยและแม่กลอง 39,876 คน-เที่ยว (ขาออก 20,057 คน-เที่ยว ขาเข้า 19,819 คน-เที่ยว)
และระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (รวมรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง) สะสม 4 วัน มีผู้ใช้บริการแล้ว 4,324,349 คน-เที่ยว ประกอบด้วย Airport Rail Link 208,656 คน-เที่ยว สายสีแดง 77,069 คน-เที่ยว (รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลต่อสายสีแดงฟรี 33 คน) สายฉลองรัชธรรม(สีม่วง) 149,670 คน-เที่ยว สายเฉลิมรัชมงคล(สีน้ำเงิน) 1,169,054 คน-เที่ยว สายสีเหลือง 130,970 คน-เที่ยว สายสีชมพู 189,570 คน-เที่ยวและรถไฟฟ้าบีทีเอสสีเขียว (สายสุขุมวิทและสายสีลม) 2,333,950 คน-เที่ยว และสีทอง 65,410 คน-เที่ยว
สำหรับด้านความปลอดภัย เมื่อวาน (1 ม.ค.2567) มีเหตุอันตรายต่อการเดินรถไฟ 3 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 2 รายและผู้บาดเจ็บ 1 ราย ประกอบด้วย ผู้โดยสารพลัดตกขบวนรถไฟ 2 ครั้ง (เสียชีวิต 1 รายและบาดเจ็บ 1 ราย) และขบวนรถไฟชนรถจักรยานยนต์ที่ฝ่าเครื่องกั้นถนนอัตโนมัติ (ข.1) (เสียชีวิต 1 ราย) ดังนี้
1.เมื่อเวลา 14.45 น. เกิดเหตุผู้โดยสารพลัดตกจากขบวนรถเร็วที่ 170 (ยะลา-กรุงเทพอภิวัฒน์) ระหว่างสถานีวัดควนมีด-นาม่วง จังหวัดสงขลา มีผู้บาดเจ็บชาย 1 ราย กู้ภัยเจดีย์ทองนำส่งโรงพยาบาลจะนะ
2.เมื่อเวลา 18.08 เกิดเหตุผู้โดยสารพลัดตกจากขบวนรถเร็วที่ 171 (กรุงเทพอภิวัฒน์-ยะลา) ในย่านสถานีหนองไม้เหลือง จังหวัดเพชรบุรี มีผู้เสียชีวิตชาย 1 ราย
3.เมื่อเวลา 19.15 เกิดเหตุขบวนรถด่วนพิเศษที่ 22 (อุบลราชธานี-กรุงเทพอภิวัฒน์) ชนรถจักรยานยนต์ ที่ฝ่าเครื่องกั้นถนนชนิดคานทำงานอัตโนมัติ (ข.1) บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 261/11 ระหว่างสถานีนครราชสีมา-ภูเขาลาด จังหวัดนครราชสีมา ส่งผลให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เสียชีวิตชาย 1 ราย
ส่วนความคืบหน้ากรณีเส้นทางรถไฟสายใต้ได้รับความเสียหายช่วงสถานีรามัน-สถานีป่าไผ่ จ.ยะลาและ จ.นราธิวาส รวม 22 แห่ง ขณะนี้ฝ่ายการช่างโยธา รฟท. ดำเนินการแล้วเสร็จ 9 จุด อยู่ระหว่างดำเนินการ 8 จุด และจะเร่งดำเนินการอีก 5 จุดที่เหลือคาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จภายใน 20 วัน เพื่อให้สามารถกลับมาให้บริการได้ตามปกติโดยเร็วต่อไป สำหรับผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วขบวนรถด่วนพิเศษที่ 38 และขบวนรถเร็วที่ 172 (สถานีสุไหงโก-ลก-กรุงเทพอภิวัฒน์) ตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค.2566 ที่ผ่านมา รฟท. ได้จัดอำนวยความสะดวกให้มีการขนถ่ายผู้โดยสารทางรถโดยสารไปส่งที่สถานีรถไฟยะลา โดยให้ผู้โดยสารสามารถรอรถโดยสารที่สถานีตามที่ระบุในตั๋วโดยสาร
ดร.พิเชฐ กล่าวทิ้งท้ายว่า วันนี้และพรุ่งนี้ (2-3 ม.ค.2567) อาจมีประชาชนบางส่วนที่ยังลาหยุดเพิ่มเติม จากวันหยุดที่รัฐบาลประกาศ ซึ่งกำลังเดินทางกลับมาสู่กรุงเทพมหานคร กรมการขนส่งทางรางได้ประสานผู้ให้บริการรระบบรางเพิ่มขบวนรถและความถี่รถไฟฟ้ารองรับการเดินทางกลับของประชาชนได้อย่างเพียงพอ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้ใชบริการระบบราง