สบพ. ได้รับประกาศนียบัตรรับรองสถานะสมาชิกโครงการ ICAO TRAINAIR PLUS ในระดับ Platinum
ในวันที่ 1 ม.ค.2567 สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม เป็นสถาบันเฉพาะทางด้านการบินที่ได้รับการรับรองจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) ในฐานะสมาชิกโครงการ ICAO TRAINAIR PLUS ระดับ Platinum ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของโครงการเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย
โครงการ ICAO TRAINIAIR PLUS เป็นโครงการส่งเสริมสมรรถนะในการพัฒนาบุคลากรด้านการบินที่ดำเนินการโดยหน่วยงาน Global Aviation Training (GAT) สังกัดภายใต้องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) โดยสถาบันการบินพลเรือนได้เข้าร่วมโครงการ TRAINAIR PLUS ตั้งแต่ปี 2555 เริ่มจากการเป็นสมาชิกระดับ Associate Member และได้พิสูจน์สมรรถนะด้านการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมตามมาตรฐานของ ICAO (Standardized Training Packages: STP) สำเร็จ และได้รับการเลื่อนระดับขึ้นเป็น Full member เมื่อปี 2558 ต่อมาในปี 2564 ได้รับการยกระดับให้เป็นสมาชิกระดับ Regional Training Centres of Excellence (RTCE) ถือได้ว่าเป็น 1 ใน 21 สมาชิกระดับ RTCE ทั่วโลก หรือเป็น 1 ใน 6 สถาบันฝึกอบรมด้านการบินจาก 5 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่เป็นสมาชิกในระดับ RTCE ร่วมกับ ประเทศจีน อินเดีย เกาหลีใต้ และสิงคโปร์
Global Aviation Training (GAT), ICAO โดย Mr. Diego Martinez (Chief of GAT) ได้ส่งจดหมายถึงสมาชิกโครงการ TRAINAIR PLUS เพื่อแจ้งแผนการบังคับใช้ Framework ใหม่ ผ่านเอกสาร Implementation Plan for the New TRAINAIR PLUS Programme (TPP) Framework โดยให้เหตุผลถึงการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การประเมินระดับนี้ไว้ว่า เกณฑ์การประเมินใหม่นี้มุ่งเน้นไปที่ศักยภาพการจัดฝึกอบรมและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศสมาชิก เนื่องจากต้องการผลักดันให้บุคลากรด้านการบิน ได้รับการฝึกอบรมที่เป็นมาตรฐานสากลของ ICAO ซึ่งสถาบันการบินพลเรือน สามารถจัดฝึกอบรมและดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง จนได้รับคะแนนสะสมตามเกณฑ์ที่กำหนด ส่งผลให้ในวันที่ 1 ม.ค.2567 สถาบันการบินพลเรือน ได้รับการรับรองสถานะสมาชิกโครงการ TRAINAIR PLUS ในระดับ Platinum ได้สำเร็จ
ความสำเร็จครั้งนี้ นับเป็นเรื่องน่ายินดีและนำความภาคภูมิใจมาสู่วงการการบินของประเทศไทยในฐานะที่เป็นสถาบันหลักในการผลิตและพัฒนาบุคลากรการบินของประเทศที่มีมาตรฐานสากล สามารถผลิตบุคลากรการบินให้มีความชำนาญ เข้าไปปฏิบัติงานในอุตสาหกรรมการบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ อันจะส่งเสริมภาพลักษณ์และสร้างความเชื่อมั่นทางด้านการบินให้กับประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางในการผลิตบุคลากรด้านการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่อไป