กรมราง!! ฟังความคิดเห็นครั้ง 3 กำหนดอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง
กรมราง!! เปิดฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 3 โครงการศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า และหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง พร้อมเสวนา “โอกาสในการเข้าถึงการพัฒนาพื้นที่ กระจายความเจริญ จากนโยบายค่าโดยสารระบบขนส่งมวลชนทางราง”
วันนี้ (17 ม.ค.2567) ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 3 โครงการศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า และหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง พร้อมจัดเสวนา “โอกาสในการเข้าถึงการพัฒนาพื้นที่ กระจายความเจริญ จากนโยบายค่าโดยสารระบบขนส่งมวลชนทางราง” ณ ห้องพญาไท 4 ชั้น 6 โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพมหานคร
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า กรมการขนส่งทางรางได้ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล และเดินหน้านโยบาย Quick Win “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ด้วยกระทรวงคมนาคมมีความต้องการปรับลดอัตราค่าโดยสาร เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน และเป็นช่องทางให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งทางรางมากขึ้น จึงได้จัดให้มีมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ตลอดสายได้เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.2566 ที่ผ่านมา ซึ่งมี 2 โครงการนำร่อง คือ โครงการรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) (สายสีม่วง) ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ และ โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน โดยหลังจากดำเนินมาตรการ พบว่า มีค่าเฉลี่ยของปริมาณผู้โดยสารระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ในช่วงวันทำงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.01 และช่วงวันหยุดมีผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.85 ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของปริมาณผู้โดยสารระบบรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงวันทำงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.17 และช่วงวันหยุดมีผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.41
และในวันนี้ จัดให้มีการเสวนาหัวข้อ “โอกาสในการเข้าถึง การพัฒนาพื้นที่ กระจายความเจริญ จากนโยบาย ค่าโดยสารระบบขนส่งมวลชนทางราง” โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง คุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค คุณจุมพฏ สายหยุด ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารกลยุทธ์ บมจ.มติชน และ ดร.ณภัทร เกตุพัตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่ เพื่อกระจายความเจริญของพื้นที่เมืองจากการดำเนินนโยบายด้านการกำกับอัตราค่าโดยสารซึ่งส่งผลต่อการลดค่าใช้จ่าย-เพิ่มกำลังซื้อ การขยายตัวของชุมชน-ย่านธุรกิจใหม่ เกิดทำเลการค้าขายใหม่ คุณภาพชีวิตและสุขภาวะที่ดีขึ้น ภาษีที่เป็นธรรม และนำมาพัฒนาการให้บริการระบบขนส่งมวลชนทางราง รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดระบบขนส่งเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางต่อไป
การดำเนินงานตามภารกิจของกรมการขนส่งทางรางที่ผ่านมาได้ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนระบบราง ค่าสัมปทาน และค่าธรรมเนียมอื่นๆ รวมทั้งรูปแบบการกำหนดอัตราค่าโดยสารระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมืองภูมิภาค และการเดินทางระหว่างจังหวัด หลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า โครงสร้างอัตราค่าโดยสารของระบบขนส่งมวลชนทางรางที่เหมาะสม ตลอดจนมาตรการเพื่อส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนทางรางที่เหมาะสมมาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการสัมมนาครั้งนี้ เป็นการนำเสนอสรุปผลการศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้าและหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง โดยได้สรุปดำเนินการ
1.โครงสร้างต้นทุนในการกำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้าของระบบขนส่งมวลชนทางราง ทั้งในปัจจุบันและคาดการณ์ในอนาคต
2.หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า และการขึ้นอัตราค่าโดยสารของระบบขนส่งมวลชนทางราง ซึ่งประกอบด้วย
2.1 อัตราค่าโดยสารระหว่างเมือง คำนวณอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง แบ่งได้ดังนี้
– ชั้น 1 :
ระยะทาง 100 กม. แรก ราคา 1.165 บาทต่อ กม.
ระยะทาง 101-200 กม. ราคา 1.066 บาทต่อ กม.
ระยะทาง 201-300 กม. ราคา 0.981 บาทต่อ กม.
ระยะทางมากกว่า 300 กม. ราคา 0.924 บาทต่อ กม.
ทั้งนี้ การขึ้นค่าโดยสารจะไม่เกินร้อยละ 25 จากความพึงพอใจที่จะจ่าย
– ชั้น 2 :
ระยะทาง 100 กม. แรก ราคา 0.610 บาทต่อ กม.
ระยะทาง 101-200 กม. ราคา 0.525 บาทต่อ กม.
ระยะทาง 201-300 กม. ราคา 0.469 บาทต่อ กม.
ระยะทางมากกว่า 300 กม. ราคา 0.420 บาทต่อ กม.
ทั้งนี้ การขึ้นค่าโดยสารจะไม่เกินร้อยละ 25 จากความพึงพอใจที่จะจ่าย และขึ้นค่าโดยสารเฉพาะตู้นอน
– ชั้น 3 :
ระยะทาง 100 กม. แรก ราคา 0.269 บาทต่อ กม.
ระยะทาง 101-200 กม. ราคา 0.255 บาทต่อ กม.
ระยะทาง 201-300 กม. ราคา 0.200 บาทต่อ กม.
ระยะทาง มากกว่า 300 กม. ราคา 0.181 บาทต่อ กม.
2.2 อัตราค่าโดยสารเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ใช้หลักเกณฑ์การคำนวณตาม MRT Standardization (MRT STD) ทั้งค่าแรกเข้าและอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง (บาท/กม.) ทั้งนี้ การคำนวณค่าโดยสารขั้นสูง คือ ค่าแรกเข้า + (อัตราค่าโดยสาร (บาท/กม.) x ระยะทางเปอร์เซนไทล์ที่ 85) และการขึ้นค่าโดยสารจะใช้ดัชนีราคาผู้บริโภค แบบไม่รวมอาหารละเครื่องดื่ม (CPI NFB) กรุงเทพฯ
2.3 อัตราค่าโดยสารในเมือง ภูมิภาค 7 จังหวัด มีหลักเกณฑ์การคำนวณตาม MRT STD โดยใช้ CPI NFB รายจังหวัด คือ ค่าแรกเข้า (10.79-12.17 บาท) และอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง (บาท/กม.) (1.94-2.19 บาทต่อ กม.) ทั้งนี้ มีหลักเกณฑ์การคำนวณค่าโดยสารขั้นสูง คือ ค่าแรกเข้า + (อัตราค่าโดยสาร (บาท/กม.) x ระยะทางเปอร์เซนไทล์ที่ 85)
2.4 อัตราค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูง เมื่อพิจารณาต้นทุนและปัจจัยที่เกี่ยวข้องแล้ว จะกำหนดค่าแรกเข้า (95 บาท) และอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง (บาท/กม.) โดยระยะทาง 300 กม. แรก ราคา 1.97 บาทต่อ กม. และระยะทางมากกว่า 300 กม. ราคา 1.70 บาทต่อ กม. ทั้งนี้ การขึ้นค่าโดยสารจะใช้ CPI NFB ทั่วประเทศ
3.การจัดทำข้อเสนอมาตรการกำกับอัตราค่าโดยสารของระบบขนส่งมวลชนทางราง รวมทั้งมาตรการ เพื่อส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนทางราง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการขนส่งทางรางได้อย่างเท่าเทียม และมีประสิทธิภาพ เนื่องจากการขนส่งทางรางเป็นระบบสาธารณะที่มีความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น มาตรการด้านจราจร (Feeder) มาตรการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มาตรการส่งเสริมการเดินทาง มาตรการด้านภาษี เป็นต้น โดยมาตรการทั้งหมดนี้ ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนทางรางให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนเกิดมาตรการด้านภาษีที่เป็นธรรม เพื่อรองรับการใช้บริการขนส่งมวลชนทางรางที่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการได้เข้าถึงการให้บริการขนส่งมวลชนอย่างเท่าเทียม และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้มากที่สุด
4.จัดทำหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้าและหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง ร่างข้อกำหนด กฎระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง ซึ่งเป็นหนึ่งในหมวดของร่างพระราชบัญญัติขนส่งทางราง พ.ศ. …. ที่ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเสนอคณะรัฐมนตรี ตลอดจนการส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งทางราง