“ไทย-มาเลเซีย” เตรียมกลับมาเปิดเดินรถไฟเส้นทางสุไหงโก-ลก-รันเตาปันยัง เส้นทางรถไฟที่ใช้บริการขนส่งมวลชนและสินค้าในอดีต หลังหยุดให้บริการมากว่า 20 ปี
เมื่อวันที่ 17 ม.ค.2567 นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทย ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรถไฟระหว่างไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ 2 (Thailand and Malaysia Railway Joint Working Committee: RJWC) ผ่านระบบการประชุมทางไกล กับ Mr. Mohd Shahriman Bin Shafein) อธิบดีกรมรถไฟ กระทรวงคมนาคมแห่งสหพันธรัฐมาเลเซีย เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนมาเลเซีย โดยมีผู้แทนฝ่ายไทยประกอบด้วย กรมการขนส่งทางราง สำนักงานโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง กรมศุลกากร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานสภาพัฒนา การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมประชุม
การประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรถไฟระหว่างไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ 2 ได้หารือในเรื่องประเด็นด้านมาตรฐาน ทั้งกฎระเบียบและการขนส่งข้ามพรมแดนที่ไร้รอยต่อ ได้แก่ การปรับปรุงแก้ไขสัญญาระหว่างรัฐบาลสหรัฐมลายูกับรัฐบาลสยาม เพื่อความสะดวกในการเดินรถไฟ ระหว่างพระราชอาณาจักรสยาม กับกลันตัน ไทรบุรี เปอร์ลิศ และสหรัฐมลายู ปี 2465 การจัดทำความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง MALAYSIA RAIL DEVELOPMENT CORPORATION (MRDC) กับสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง เช่น การแลกเปลี่ยนฝึกอบรม การทบทวนและแก้ไขความตกลงเดินรถไฟระหว่างไทย-มาเลเซีย พ.ศ. 2497 (ค.ศ. 1954) ความปลอดภัยและความมั่นคงในการเดินรถไฟข้ามพรมแดน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณพื้นที่ จ.นราธิวาส อ.ตากใบ การกลับมาเปิดเดินรถไฟเส้นทางสุไหงโก-ลก-รันเตาปันยัง ซึ่งเคยเป็นเส้นทางรถไฟที่ใช้บริการขนส่งมวลชนและสินค้าในอดีตและได้หยุดให้บริการมากว่า 20 ปี เนื่องจากประเด็นความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยและปัญหาการลักลอบขนส่งสินค้าผิดกฎหมาย เรื่องการเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานทางราง ได้แก่ ความเป็นไปได้ในการเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงระหว่างไทย-มาเลเซีย ความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟสุไหงโก-ลก-ปาเสมัส เข้ากับเส้นทางรถไฟเชื่อมชายฝั่งทะเลตะวันออก (East Coast Link: ECRL) ของมาเลเซีย
ซึ่งฝ่ายไทยมีความพร้อมในการกลับมาเปิดเดินรถในเส้นทางสุไหงโก-ลก-รันเตาปันยัง โดย รฟท. ได้ทำการปรับปรุงสะพานทางรถไฟที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย สุดทางรถไฟสายใต้ที่สุไหงโก-ลกแล้ว และฝ่ายไทยได้นำเสนอข้อมูลสถานะความคืบหน้าการพัฒนารถไฟทางคู่สายใต้ของไทยให้ฝ่ายมาเลเซียได้รับทราบ
โดยการประชุมครั้งถัดไปมีกำหนดจัดขึ้นในเดือน ส.ค.2567 โดยฝ่ายมาเลเซียจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 3 เพื่อติดตามประเด็นที่ต้องการผลักดันร่วมกันในในระยะถัดไป