“วสท.” แนะ 5 ข้อ คุมเข้มงานก่อสร้างทางยกระดับพระราม 2 หลังรถเครนยกกระเช้าสลิงรถเครนขาด
วสท. แนะ “กรมทางหลวง” 5 ข้อ คุมเข้มงานก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 หลังเกิดอุบัติเหตุรถเครนยกกระเช้าสลิงรถเครนขาด ตาย 1 ราย เจ็บ 1 ราย
วันนี้ (19 ม.ค.2567) เวลา 15.30 น. ที่ ณ ห้องประชุม ชั้น 4 อาคาร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้จัดแถลงข่าว อุบัติเหตุจากรถเครนยกกระเช้า กรณีสลิงรถเครนขาด เป็นเหตุให้กระเช้าร่วงหล่น ทำให้มีผู้เสียชีวิต บริเวณโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 (M82) สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ถนนพระราม 2 ของกรมทางหลวง (ทล.) โดยมี รศ.ดร.วัชรินทร์ กาสลัก นายก วสท. พร้อมด้วย รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ อุปนายก วสท. และนายวุฒินันทน์ ปัทมวิสุทธิ์ กรรมการอำนวยการ และประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วสท. ร่วมแถลงข่าว
โดยมีรายงานการเกิดอุบัติเหตุจากการลงพื้นที่ พบว่า ลวดสลิงของรอกช่วยที่ใช้ยกกระเช้า เกิดการขาด เป็นเหตุให้กระเช้าร่วงหล่น มีผู้เสียชีวิต เหตุเกิดบริเวณโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 (M82) สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ถนนพระราม 2 หน้าปากซอยพระราม 2 ซอย 72
โดยเมื่อวันที่ 18 ม.ค. ที่ผ่านมา สำนักก่อสร้างสะพาน กรมทางหลวง (ทล.) ได้ขอความอนุเคราะห์ วสท. ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบอุบัติเหตุดังกล่าว โดย วสท. ได้ส่งผู้แทน ได้แก่ รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ อุปนายก และนายวุฒินันทน์ ปัทมวิสุทธิ์ กรรมการอำนวยการ และประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล ร่วมตรวจสอบ
จากการลงพื้นที่ และจากการสอบถามผู้เกี่ยวข้องและสภาพพื้นที่เกิดเหตุ สรุปได้ว่า ทางผู้บังคับเครน ได้ทำการบังคับเครน โดยยืดแขนเครนยกกระเช้าเพื่อให้คนงาน 2 ท่านที่อยู่ในกระเช้าขึ้นไปด้านบนของคานของเสารับทางยกระดับ เพื่อนำน้ำมันเครื่องลงมาใช้งานบำรุงรักษาตามระยะเวลา โดยเมื่อยึดแขนเครนไปราว 3 ท่อนเพื่อยกกระเช้าขึ้นสู่ระดับความสูงที่ต้องการ แต่ยังยกกระเช้าได้ไม่ถึงระดับคานด้านบนที่ต้องการ จึงทำการปรับสวิตช์ของรถเครน (P.T.O.) ที่ปกติอยู่ที่ ON (I) ไปที่ ON (II) ซึ่งจะมีผลให้ตัดการทำงานของระบบเซฟตี้
รวมถึงสวิตช์หยุดการทำงานของปั้นจั่นได้โดยอัตโนมัติ (Upper Limit Switch) หรืออุปกรณ์ป้องกันรอกกระทบกัน (Anti Two Blocking Device) ไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ เมื่อผู้บังคับเครนทำการยืดแขนเครน โดยไม่ได้ทำการลดระดับรอกช่วยลง จึงมีผลให้ชุดรอกช่วยกระทบกับปลายแขนเครนอย่างรุนแรง ทำให้ลวดสลิงของชุดรอกช่วยขาดออกแบบฉับพลัน และมีผลให้กระเช้าที่คนงานทำงานอยู่ร่วงหล่นสู่ระดับพื้นมีผลให้คนงานในกระเช้าเสียชีวิต 1 ราย และได้รับบาดเจ็บ 1 ราย
นอกจากนี้ วสท. มีข้อเสนอจากการเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว 5 ข้อ ดังนี้
1.ให้มีการตรวจสอบสภาพสวิตช์หยุดการทำงานของปั้นจั่นได้โดยอัตโนมัติ (Upper Limit Switch) หรืออุปกรณ์ป้องกันรอกกระทบกัน (Anti Two Blocking Device) ทุกครั้งก่อนทำการยก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ยกวัสดุที่มีความเสี่ยงสูง
2.ในกรณียกคนขึ้นทำงานบนที่สูง ให้ใช้เครื่องจักรที่ใช้ในการยกคนขึ้นทำงานบนที่สูงเป็นการเฉพาะ เช่น รถกระเช้าแบบ Boom Lift, แบบ X-Lift หรือรถกระเช้าชนิดอื่นๆ ซึ่งจะมีระบบเซฟตี้ที่เหมาะสมกับการยกคน และสามารถควบคุมโดยผู้ทำงานบนกระเช้าได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
3.กระเช้าที่ใช้ในการยกวัสดุ ควรได้รับการออกแบบตามหลักวิศวกรรม และให้เลือกใช้อุปกรณ์ช่วยยกที่เหมาะสม และวิธีการยึดเกาะที่เหมาะสมตามหลักวิศวกรรมยกหิ้ว
4.ให้จัดให้มีผู้ให้สัญญาณแก่ผู้บังคับปั้นจั่นทุกครั้งที่ทำการยก เพื่อให้สังเกตพื้นที่ทำงานได้ชัดเจนและแม่นยำ
5.ผู้บังคับปั้นจั่นและผู้ให้สัญญาณฯ ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการปฏิบัติงานเกี่ยวกับปั้นจั่นตามที่กฎหมายกำหนด