ยกระดับ!! ถนนผังเมืองรวมเมืองสมุทรปราการ
กรมทางหลวงชนบท สร้างถนนผังเมืองรวมเมืองสมุทรปราการ เดินหน้าไปกว่า 65% คาดแล้วเสร็จพร้อมเปิดใช้งานในเดือน ก.ค.นี้ เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจภาคการขนส่งสู่สนามบินสุวรรณภูมิ ยกระดับการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ พร้อมรองรับการเติบโตของเมือง
วันนี้ (20 ก.พ.2567) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ระบุว่า รายงานความคืบหน้าโครงการก่อสร้างถนนสาย ข1 ผังเมืองรวมเมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ ซึ่งปัจจุบันผลงานการก่อสร้างมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 65% ขณะนี้การก่อสร้างอยู่ระหว่างดำเนินการชั้นงานทรายถมคันทาง งานปูทางเดินเท้า และได้ก่อสร้างงานผิวจราจรแล้วเสร็จประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งโครงการดังกล่าวคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณเดือน ก.ค.2567 นี้
เพื่อเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจภาคการขนส่งสินค้าสู่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ส่งเสริมและยกระดับประตูการค้าการท่องเที่ยวให้มีความสมบูรณ์ รองรับการพัฒนาเมืองในอนาคต ช่วยให้การคมนาคมระหว่าง จ.สมุทรปราการและกรุงเทพมหานคร มีประสิทธิภาพ ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็วปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
เนื่องจาก จ.สมุทรปราการ มีพื้นที่ตั้งอยู่ใกล้กรุงเทพมหานคร จึงได้รับอิทธิพลการขยายตัวทางเศรษฐกิจของชุมชนเมืองให้เป็นพื้นที่รองรับธุรกิจการค้า นิคมอุตสาหกรรม ทั้งยังมีที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมขนส่งเพื่อให้สามารถรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทช. จึงได้ดำเนินการก่อสร้างถนนสาย ข1 ผังเมืองรวมเมืองสมุทรปราการ ซึ่งเป็นถนนที่เชื่อมโยงระหว่าง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ กับเขตประเวศ กรุงเทพมหานคร (ระหว่าง ทล.3256 ถนนกิ่งแก้วกับถนนวงแหวนรอบนอกตะวันออก) มีจุดเริ่มต้นโครงการ กม.ที่ 0+000 เชื่อมจาก ทล.3256 (ถนนกิ่งแก้ว) ประมาณ กม.ที่ 17+090 ด้านซ้ายทาง ไปทางทิศตะวันตกตามแนวถนนคอนกรีตเดิม (ถนนทางหลวงชนบทสาย สป.4008 หรือซอยกิ่งแก้ว 25/1) ตัดผ่านคลองชวดลากข้าวและคลองสิงห์โต มีจุดสิ้นสุดโครงการ กม.ที่ 1+925 บรรจบกับถนนคอนกรีตเสริมเหล็กของเขตประเวศ กรุงเทพมหานคร รวมระยะทาง 1.925 กิโลเมตร
โดยได้ก่อสร้างถนนจากเดิม 2 ช่องจราจร เป็นถนน 4 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.25 เมตร มีทางเท้า ซึ่งช่วง กม.ที่ 0+000 ถึง 0+100 ก่อสร้างเป็นผิวจราจรคอนกรีตเสริมเหล็กเชื่อมกับ ทล.3256 (ถนนกิ่งแก้ว) และตั้งแต่ช่วง กม.ที่ 0+100 ถึง 1+925 ก่อสร้างเป็นผิวจราจรแอสฟัลท์ติกคอนกรีต พร้อมก่อสร้างขยายสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก จำนวน 2 แห่ง ก่อสร้างระบบระบายน้ำ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง และสิ่งอำนวยความปลอดภัยตลอดสายทาง ใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวม 157.850 ล้านบาท