เจ้าท่า จับมือ ปตท.สผ. จัดฝึกอบรมเตรียมความพร้อมการตอบสนองเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล
“กรมเจ้าท่า ร่วมกับ ปตท.สผ.” จัดฝึกอบรม ประชุมเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อม การตอบสนองเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล ครั้งที่ 2
เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2567 นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) ด้านปลอดภัย เป็นประธานเปิดการอบรมและประชุมเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อมและการตอบสนองเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล ครั้งที่ 2 ณ ห้องประชุม ลากูนาคิงเอ โรงแรม ลากูน่า แกรนด์ โฮเทล แอนด์ สปา จ.สงขลา และได้รับเกียรติจาก นายมาหะมะพีสกรี วาแม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในการกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมฝึกอบรมฯ
โดยการฝึกอบรมครั้งนี้ กรมเจ้าท่าร่วมกับ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ได้บูรณาการร่วมฝึกอบรม และประชุมเชิงปฏิบัติการการเตรียมความพร้อม และการตอบสนองต่อเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตาม (ร่าง) แผนจัดการมลพิษทางน้ำ เนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยงานในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ได้แก่ พื้นที่ จ.สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และ ชุมพร
ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงาน กรมเจ้าท่า ปตท.สผ. ปตท.สผ.อีดี ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล กองทัพเรือ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมควบคุมมลพิษ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมประมง กรมท่าอากาศยาน กรมศุลกากร กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ การท่าเรือแห่งประเทศไทย สมาคมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน (IESG) และภาคเอกชนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือต่อสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพหากเกิดเหตุการณ์ขึ้น
ที่ผ่านมากรมเจ้าท่าจะมีการฝึกซ้อมตามแผนชาติเป็นประจำทุกปี สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ถือเป็นการเตรียมพร้อมก่อนการฝึกซ้อมแผนปฏิบัติการขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์แห่งชาติ ครั้งที่ 13 ซึ่งจะจัดขึ้นประมาณช่วงเดือน ก.ค.2567 โดยการฝึกอบรมครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-21 ก.พ.2567
โดยมีวัตถุประสงค์ให้ความสำคัญกับการจำลองสถานการณ์และการฝึกซ้อมทางการตอบสนองต่อเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลตามบทบาทและหน้าที่ ของแต่ละหน่วยงานตามโครงสร้างของ (ร่าง) แผนการจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ รวมถึงการประเมินสถานการณ์ การเลือกวิธีการจัดการที่เหมาะสม และทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน เพื่อสร้างความรวดเร็ว เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทางน้ำ สร้างความยั่งยืนและปลอดภัยต่อประชาชนต่อไป