Transport

“คมนาคม” คุมเข้มความปลอดภัย พร้อมอัปเดตคืบหน้า 3 บิ๊กโปรเจ็กท์ บนถนนพระราม 2

“คมนาคม” ติดตามกำกับตรวจสอบความปลอดภัย พร้อมอัปเดตความคืบหน้า 3 โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ บนถนนพระราม 2 เร่งให้เสร็จปีหน้า

เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2567 นายมนตรี เดชาสกุลสม รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับตรวจสอบความปลอดภัยโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคม ครั้งที่ 3/2567 โดยมี นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางบก ผู้แทนกรมทางหลวง (ทล.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม และผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

นายมนตรี เดชาสกุลสม กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการติดตามเร่งรัดการดำเนินงานโครงการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 (ทางหลวงหมายเลข 35) ซึ่งปัจจุบันมีโครงการของ ทล. ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ได้แก่

โครงการก่อสร้างทางยกระดับทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย มีความคืบหน้า 88.973%

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 (M82) สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ตอนที่ 1-10 มีความคืบหน้า 40.395% และทางแยกต่างระดับบ้านแพ้ว มีความคืบหน้า 51.872%

และโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก ของ กทพ. สัญญาที่ 1 คืบหน้า 56.07% สัญญาที่ 2 คืบหน้า 83.07% สัญญาที่ 3 คืบหน้า 62.86% สัญญาที่ 4 แล้วเสร็จตามสัญญา และสัญญาที่ 5 งานติดตั้งระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2568

ซึ่งทั้ง 3 โครงการ คาดว่าจะสามารถเปิดให้ประชาชนทดลองใช้ได้ภายในปี 2568

นอกจากนี้ที่ประชุมได้รับทราบรายงานสภาพการจราจรและการแก้ปัญหาบนถนนพระราม 2 และได้มีข้อสั่งการให้ ทล. เร่งรัดจัดทำแผนงานและดำเนินการ O&M สำหรับด่านเก็บเงินให้เสร็จทันพร้อมงานโยธา และให้ ทล. และ กทพ. ดำเนินการเพื่ออำนวยการจราจรบนถนนพระราม 2 ให้ประชาชนเดินทางได้อย่างสะดวกและปลอดภัยมากขึ้น ดังนี้

1.ทาสี ตีเส้นบนถนนให้ชัดเจนขึ้นเพื่อให้การจราจรคล่องตัวและมีความปลอดภัย

2.ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างบนถนนในจุดที่อาจจะเป็นอันตราย

3.ให้คืนพื้นที่ผิวจราจรให้มากที่สุด ในบริเวณที่กั้นคอนกรีตแบริเออร์และปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างฐานรากแล้วเสร็จ คงเหลืองานเสาหรือการวางคาน ให้ขยับคอนกรีตเข้าเพื่อเพิ่มพื้นที่ช่องจราจร

4.จัดเรียงแบริเออร์ในบริเวณโครงการก่อสร้างให้เป็นระเบียบ สะอาด ทาสีให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจน เพื่ออำนวยความปลอดภัยด้านการจราจรบนถนน

5.จัดเจ้าหน้าที่อำนวยการจราจรในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุหรือมีการจราจรหนาแน่น

6.ซ่อมแซมหลุมบ่อหรือปรับระดับผิวจราจรให้ราบเรียบ คลอบคลุมพื้นที่ไหล่ทางเพื่อขยายผิวจราจรและให้การจราจรเคลื่อนตัวไม่ชะลอเนื่องจากผิวทางชำรุด

7.ขอความร่วมมือผู้ประกอบการขนส่ง พิจารณางดเว้นการขนส่งด้วยรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เนื่องจากอาจทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะลงพื้นที่ตรวจสอบว่าหน่วยงานได้ดำเนินการครบถ้วนในสัปดาห์หน้า

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมได้พัฒนาระบบรายงานการตรวจสอบความปลอดภัยในพื้นที่ก่อสร้างของกระทรวงคมนาคม เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ โดยได้เริ่มเปิดให้ใช้งานระบบเมื่อเดือน พ.ย.2566 รองรับการรายงานการตรวจสอบในประเด็นที่เป็น Common Checklist สำหรับทุกโครงการ ซึ่งมีประเด็นการตรวจสอบ 3 มิติหลัก ประกอบด้วย มิติด้านการประชาสัมพันธ์ ด้านการบริหารการจราจรและความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้าง ด้านการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อชุมชน

ปัจจุบันหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมได้รายงานผลการตรวจสอบแล้ว 57 โครงการ จากทั้งหมด 65 โครงการ ในระยะต่อไปกระทรวงคมนาคมจะพัฒนาระบบเพิ่มเติม ให้สามารถรองรับการรายงานผลตรวจสอบในประเด็นที่เป็น Special Checklist ของแต่ละโครงการต่อไป

Loading

Back to top button