“เศรษฐา” ตั้งเป้าติดอันดับ 1 ใน 20 ของโลกใน 5 ปี รับผู้โดยสารกว่า 150 ล้านคน/ปี
“เศรษฐา” นายกรัฐมนตรี ประกาศวิสัยทัศน์ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ตั้งเป้า ติดอันดับ 1 ใน 20 ของโลกภายใน 5 ปี รองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 150 ล้านคน/ปี
วันนี้ (1 มี.ค.2567) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบาย Aviation Hub ประกาศวิสัยทัศน์ผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการบินฯ ติดอันดับ 1 ใน 20 ของโลกภายใน 5 ปี รองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 150 ล้านคน/ปี โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่ากระทรวงคมนาคม กล่าวรายงาน และมีผู้ร่วมงานประกอบด้วย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) และผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
นายสุริยะ กล่าวว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ประกาศวิสัยทัศน์ Thailand Vision “IGNITE THAILAND : จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง” เมื่อวันที่ 22 ก.พ.2567 โดยมุ่งเป้าพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน และตั้งเป้าประเทศไทยก้าวไปเป็นที่ 1 ของภูมิภาค นั้น หนึ่งในแปดเสาหลักเศรษฐกิจ คือ การผลักดันและพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินและการขนส่งแห่งภูมิภาค
กระทรวงคมนาคม รวมทั้งหน่วยงานในสังกัด และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้น้อมรับวิสัยทัศน์ นโยบาย และนำมาจัดทำเป็นแผนดำเนินงานทั้งระยะสั้น และระยะยาว เพื่อขับเคลื่อนนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบิน หรือ Aviation Hub ของภูมิภาค เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว สร้างรายได้ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ และนำความอยู่ดีกินดีมาสู่พี่น้องประชาชน โดยรัฐบาลมีแผนจะพัฒนาท่าอากาศยานของไทยให้กลับมาติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดในโลกภายใน 5 ปี เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในจุดภูมิศาสตร์กึ่งกลางของเอเชียแปซิฟิก มีพรมแดนติดกับ 3 ประเทศเพื่อนบ้าน
อีกทั้งได้รับสิทธิประโยชน์จากการเปิดบินเสรีการบินอาเซียน รัฐบาลมีแผนพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโดยขยายขีดความสามารถให้รองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคนต่อปีภายในปี 2573 ซึ่งขณะนี้ ทอท. เปิดใช้อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 หรือ SAT-1 ที่สามารถรองรับผู้โดยสารจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี และในปี 2567 เตรียมเปิดใช้ทางวิ่งเส้นที่ 3 ซึ่งจะสามารถรองรับเที่ยวบินจาก 68 เที่ยวต่อชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวต่อชั่วโมง และมีแผนก่อสร้างขยายอาคารผู้โดยสารทางทิศตะวันออก – ทิศตะวันตก ให้สามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีก 30 ล้านคนต่อปี รวมทั้งมีแผนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารทางทิศใต้ ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอีก 60 ล้านคนต่อปี และแผนก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 4 รองรับเที่ยวบินได้ถึง 120 เที่ยวบินต่อชั่วโมง
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมือง จะต้องมีความคล่องตัวและรวดเร็วมากขึ้น โดยต้องแก้ไขปัญหาภายใน 6 เดือน รวมทั้งการเปิดเช็กอิน โหลดสัมภาระแบบอัตโนมัติ และเพิ่มการเปิดเช็คอินและโหลดสัมภาระก่อนเครื่องบินจะขึ้น 6 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้โดยสาร และมีการเพิ่มบุคลากรที่ให้บริการภาคพื้น และมีตัวชี้วัดการทำงานอย่างชัดเจน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากร รวมทั้งขั้นตอนการถ่ายสินค้าต้องเชื่อมโยง รวดเร็ว สะดวกขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวดีขึ้น สำหรับท่าอากาศยานดอนเมือง รัฐบาลมีแผนเปลี่ยนท่าอากาศยานให้เป็นท่าอากาศยานแบบ POINT-TO-POINT ที่มีจุดเด่นให้บริการเข้าออกได้เร็วขึ้น และขยายขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารจากเดิม 30 ล้านคนเป็น 50 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2573 ผ่านการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิมและขยายอาคาร 1 และอาคาร 2 ให้เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ รองรับผู้โดยสารได้ 27 ล้านคนต่อปี และจะสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศใหม่ รองรับผู้โดยสารได้ 23 ล้านคนต่อปี รวมทั้งมีแผนก่อสร้างอาคาร Junction Building เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ จัดแสดงและจำหน่ายสินค้าโอทอป และยกระดับการให้บริการทุกภาคส่วน ทั้งพื้นที่จอดรถการเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนทางรางรถไฟฟ้าสายสีแดงให้เดินทางเข้าออกเมืองได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ รัฐบาลมีแผนก่อสร้างท่าอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 หรือ ท่าอากาศยานอันดามัน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนภูเก็ต พังงา กระบี่ รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียง โดยจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 40 ล้านคน ตั้งเป็นฮับการบินภาคใต้เชื่อมเส้นทางระยะไกล (Long-haul Flight) ทั้งเที่ยวบินตรงระหว่างประเทศแบบ Point to Point สำหรับท่าอากาศยานภูเก็ตมีแผนพัฒนาส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ และก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบิน รองรับผู้โดยสารจากเดิม 12.5 ล้านคนต่อปี เป็น 18 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2573
และอยู่ระหว่างศึกษาโครงการพัฒนา Seaplane & Ferry Terminal พัฒนาพื้นที่อากาศยานขึ้น – ลงในทะเล เชื่อมต่อไปยังเกาะสมุย เกาะช้าง และหัวหิน เป็นต้น สำหรับแผนพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ โดยก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศและปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิม ที่รองรับจำนวนนักท่องเที่ยวจากเดิม 8 ล้านคนต่อปี เป็น 16.5 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2572 และก่อสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 หรือท่าอากาศยานล้านนา ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอีก 20 ล้านคนต่อปี
รัฐบาลมีแผนยกระดับสนามบินทั่วประเทศ นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับระบบบริการผู้โดยสารสมัยใหม่เข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการให้มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น และมีแผนขยายอุตสาหกรรมการบำรุงรักษาให้กลายเป็นศูนย์กลางการบำรุงรักษาทั้งเครื่องบินพาณิชย์และเครื่องบินส่วนตัว มีระบบคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิเพื่อกระจายสู่ประชากรกว่า 280 ล้านคน ทั้งไทย มาเลเซีย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม พร้อมทั้งจะต่อยอดความร่วมมือกับสายการบินต่าง ๆ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมโรงแรม และพัฒนาสายการบินไทย ปรับปรุงเส้นทางตารางการบินให้เหมาะสม จำนวนและประเภทเครื่องบิน บัตรโดยสารและการบริการ ตลอดจนส่งเสริมบุคลากรให้เพียงพอพร้อมให้บริการ
“เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการบิน จะต้องยกระดับสนามบินสุวรรณภูมิให้ติดอันดับ 1 ใน 50 ของสนามบินที่ดีที่สุดในโลก ภายในระยะเวลา 1 ปี และติดอันดับ 1 ใน 20 ของโลก ภายในระยะเวลา 5 ปี” นายกรัฐมนตรีกล่าว