“มนพร” ตรวจโครงข่ายคมนาคมทางน้ำ จ.เชียงราย เสริมท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้คนพื้นที่
“มนพร” ตรวจโครงข่ายคมนาคมทางน้ำ จ.เชียงราย พัฒนาเศรษฐกิจการท่องเที่ยว สร้างรายได้ประชาชน-เกษตรกรในพื้นที่
วันนี้ (17 มี.ค.2567) นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพันธ์ คุณากรวงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ลงพื้นที่ จ.เชียงราย ติดตามการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทางน้ำ การขุดลอก ก่อสร้างโป๊ะเทียบเรือ และการบริหารจัดการส่งออกสัตว์มีชีวิตของท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้ประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมได้ติดตามการพัฒนาด้านคมนาคมทางน้ำในลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน และความคืบหน้าโครงการขุดลอกต่างตอบแทนพื้นที่ภาคเหนือ โครงการขุดลอกแม่น้ำในประเทศ (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) รวมทั้งร่องน้ำเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ การเดินเรือ การอุปโภคบริโภค และเพิ่มพื้นที่รับน้ำเพื่อใช้ในภาคการเกษตร โครงการก่อสร้างโป๊ะเทียบเรือจุดผ่านแดนถาวรสามเหลี่ยมทองคำอ.เชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งเป็นการพัฒนาท่าเทียบเรือให้มีมาตรฐานและความปลอดภัยอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวและประชาชนที่เดินทางเข้า-ออก ราชอาณาจักรด้วยเรือผ่านจุดผ่านแดนถาวร สามเหลี่ยมทองคำ (สบรวก) มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2567
จากนั้น นางมนพร และคณะได้ลงพื้นที่ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำในอนุภูมิภาคลุ่มเเม่น้ำโขงที่ได้มาตรฐานสากล เป็นประตูการค้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนระหว่าง 4 ประเทศคือ ไทย จีน สปป.ลาว และเมียนมา โดยติดตามการบริหารจัดการท่าเรือ และความคืบหน้าการส่งออกสัตว์มีชีวิตรวมถึงเป็นสถานที่ใช้ลำเลียงปศุสัตว์เพื่อการส่งออก
นางมนพร กล่าวว่า สำหรับโครงการสัตว์ส่งออกท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน (ทชส.) ได้ผ่านความเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว และสามารถดำเนินโครงการส่งออกสัตว์มีชีวิต (โคเนื้อ กระบือ สุกร) ผ่านที่ ทชส. ในพื้นที่ 1 บริเวณพื้นที่ท่าเรือแนวลาดฝั่งทิศใต้ ได้ตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค.2567 เป็นต้นไป โดยคาดการณ์ปริมาณสัตว์ส่งออกสุกร 15,000 ตัว/เดือน หรือ 180,000 ตัว/ปี โค กระบือ จำนวน 5,000 ตัว/เดือน หรือ 60,000 ตัว/ปี ซึ่ง ทชส. ทำให้มีรายได้จากการดำเนินโครงการฯ เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 10 ล้านบาท
ทั้งนี้ การส่งออกสัตว์มีชีวิตผ่านที่ ทชส. ต้องปฏิบัติตามแนวทางตามระเบียบของกรมปศุสัตว์และระเบียบพิธีการของกรมศุลกากรอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การขนถ่าย เป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยผู้ประกอบการต้องทำนัดหมายช่วงเวลาในการขนถ่ายสัตว์ล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง การล้างสิ่งปฏิกูลและฉีดยาฆ่าเชื้อ การขนย้ายโดยมีที่กั้นที่แข็งแรง ถ่ายเทอากาศได้ดี มีอุปกรณ์ช่วยขนสัตว์ขึ้นลง รวมทั้งการทำความสะอาดจุดขนถ่ายสัตว์ เมื่อดำเนินการขนถ่ายแล้วเสร็จ เป็นต้น
“ปัจจุบันท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนได้ปลดล็อคและดำเนินการตามนโยบายที่ให้ไว้เกี่ยวกับโครงการส่งออกสัตว์มีชีวิต (โคเนื้อ กระบือ สุกร) โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมเจ้าท่า ด่านกักกันสัตว์เชียงราย หน่วยงานท้องถิ่น ซึ่งทุกหน่วยงานยินดีสนับสนุนการดำเนินการของท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน ทั้งนี้ ขอขอบคุณการท่าเรือฯ ที่เร่งรัดดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงโค กระบือ เพื่อสร้างรายได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและเกษตรกรที่อยู่บริเวณพื้นที่โดยรอบท่าเรือและอำเภอเชียงแสน และขอให้ดำเนินการตามแนวทางตามระเบียบของกรมปศุสัตว์และระเบียบพิธีการของกรมศุลกากร เพื่อเป็นไปตามมาตรฐาน EIA ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน” ดร.มนพร กล่าว
นางมนพร กล่าวด้วยว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ได้รับทราบความคืบหน้าปัญหา อุปสรรค และผลสำเร็จในการพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบน ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม เพื่อความสุขของประชาชนในทุกมิติ ทั้งด้านความสะดวก ความปลอดภัย การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ภายใต้มาตรฐานการให้บริการที่เป็นมาตรฐานสากลและความปลอดภัยสูงสุด