Transport

“สุริยะ” ร่วมคณะนายกฯ ลงภูเก็ต ติดตามคืบหน้าโครงการแก้รถติด

“สุริยะ” ร่วมคณะนายกฯ ลงภูเก็ต ติดตามความคืบหน้าโครงการแก้ปัญหาจราจร พร้อมรับฟังความต้องการของประชาชน ย้ำผู้รับจ้างก่อสร้างต้องมีศักยภาพ-ส่งมอบงานได้ตามสัญญา-ขึ้นค่าปรับผู้ว่าจ้างหากส่งงานช้า

เมื่อวานนี้ (19 เม.ย.2567) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมกับคณะตรวจราชการของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะทำงานกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการต่าง ๆ ของกระทรวงคมนาคม เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรติดขัด และพบปะประชาชนรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะด้านต่าง ๆ

ภายหลังการตรวจราชการ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นการติดตามงานจากการลงพื้นที่เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว โดยจากการรับฟังรายงานสรุปจากกระทรวงคมนาคม ถือเป็นเรื่องที่ดี มีการบริหารจัดการรองรับทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาว โดยมั่นใจว่านโยบายการท่องเที่ยวของรัฐบาลจะทำให้ จ.ภูเก็ต รวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน จ.ภูเก็ตมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ได้สั่งการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดำเนินการพิจารณการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในโครงการทางพิเศษจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงกะทู้-ป่าตอง ที่มีการปรับรูปแบบก่อสร้างอุโมงค์ให้เร็วขึ้น พร้อมให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ไปศึกษาแผนโปรโมตเกาะมัลดีฟ เพื่อเป็นกรณีศึกษาในการทำแผนที่มีความเชื่อมโยงกับเกาะต่าง ๆ ของไทย ทำให้เศรษฐกิจพื้นฐานของภาคใต้ดีขึ้นต่อไป

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยเฉพาะ จ.ภูเก็ต เมืองท่องเที่ยวชั้นนำระดับโลกที่สร้างรายได้ให้ประเทศอย่างมาก และจากข้อสั่งการที่ได้มอบให้กรมทางหลวง (ทล.) ร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตในระยะเร่งด่วน และเร่งรัดโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ให้สามารถเปิดให้บริการประชาชนได้โดยเร็วนั้น

ดังนั้นกระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการตามข้อสั่งการดังกล่าว และได้มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในจังหวัดภูเก็ต โดยเฉพาะได้สั่งการให้ ทล. เร่งพัฒนาโครงข่ายทางหลวง เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรติดขัด รองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่ ให้มีความสะดวก ปลอดภัย โดยต้องได้ผู้รับเหมาที่มีศักยภาพเข้ามาทำงาน การก่อสร้างต้องมีความปลอดภัย ไม่ล่าช้า เครื่องจักรมีความพร้อมและมีบุคลากรดำเนินการทุกวัน

นอกจากนี้ ภาพรวมของจังหวัดภูเก็ตที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ภูเก็ตต้องเผชิญกับวิกฤตจราจรบนถนนสายหลัก (ทล.402) โดยเฉพาะบริเวณทางแยกถลาง แยกเขาล้าน วงเวียนอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร และแยกเกาะแก้ว จึงได้สั่งการให้ ทล. แก้ไขปัญหาจราจรบนโครงข่ายทางหลวงสายหลัก ซึ่งในระยะสั้น ทล. มีแผนจะทดลองบริหารจัดการจราจรบน ทล.402 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางบนโครงข่ายทางหลวง ดังนี้

1.ปรับปรุงระบบประมวลผลไฟสัญญาณจราจรอัจฉริยะในทุกทางแยก

2.กำหนดเขตห้ามจอดรถริมทางหลวงเพื่อไม่ให้กีดขวางการจราจรบนทางหลัก และบูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ   เพื่อกำกับดูแลการจอดรถของสถานที่ราชการและร้านค้า

3.ปิดจุดกลับรถบริเวณหน้าไทยวัสดุ

4.ทางแยกเกาะแก้ว มีแนวคิดทดลองให้รถวิ่งตรงผ่านทางแยกอย่างเดียวบนทางสายหลัก ส่วนถนนสายรองจะให้รถเลี้ยวซ้ายไปกลับรถทั้งหมดเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน โดยจะทำการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนก่อนดำเนินการต่อไป

ส่วนระยะต่อไป ทล. มีแผนก่อสร้างโครงการสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาจราจรบนทางหลวงสายหลักได้อย่างยั่งยืน 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่ ช่วง บ้านเมืองใหม่-สามแยกเข้าสนามบินภูเก็ต ก่อสร้างทางแนวใหม่ ขนาด 4 ช่องจราจร และทางแยกต่างระดับ ระยะทาง 1.95 กิโลเมตร (กม.) วงเงินก่อสร้าง 1,300 ล้านบาท เสนอขอตั้งงบประมาณในปี 2568 2.โครงการก่อสร้างขยายช่องจราจร ทล.4027 ช่วง บ้านพารา-บ้านเมืองใหม่ ก่อสร้างขยายถนนเดิมจาก 2 ช่องจราจร ให้เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 4.55 กม. และก่อสร้างสะพานพร้อมจุดกลับรถใต้สะพาน จำนวน 3 แห่ง วงเงินก่อสร้างรวม 650 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างกลางปี 2567 เปิดให้บริการภายในปี 2569 และ 3.โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับที่จุดตัด ทล.402 กับ ทล.4027 และ ทล.4025 (แยกท่าเรือ) วงเงินค่าก่อสร้าง 2,380 ล้านบาท มีแผนจะเริ่มก่อสร้างประมาณกลางปี 2567 คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณปลายปี 2569

นายสุริยะ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการบริหารจัดการจราจรเพื่อลดผลกระทบจากการก่อสร้างให้การดำเนินงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเสร็จตามแผนที่กำหนดจะต้องคัดเลือกผู้รับจ้างที่มีศักยภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้ผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม สามารถก่อสร้างแล้วเสร็จโดยเร็ว นอกจากนี้ ต้องกำหนดเงื่อนไขการปฏิบัติงานก่อสร้างที่เข้มงวด เพื่อเร่งรัดให้ผู้รับจ้างทำการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในสัญญา พร้อมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาจราจร และลดผลกระทบจากโครงการก่อสร้าง

อีกทั้งให้บูรณาการความร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาค กรมศิลปากร สถานีตำรวจภูธรเมืองภูเก็ต และหน่วยงานราชการในจังหวัดภูเก็ต รื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค เคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์ฯ และงานในส่วนอื่น ๆ ให้แล้วเสร็จตามแผนงาน ไม่กระทบให้งานก่อสร้างล่าช้า ตลอดจนสำรวจเส้นทางเลี่ยงพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อลดผลกระทบต่อสภาพการจราจรบน ทล.402 และแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับและติดตามการปฏิบัติงานในระดับกระทรวงคมนาคม และ ทล. เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว โปร่งใส และตรวจสอบได้

โดยวันนี้ นายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่โครงการก่อสร้างสะพานยกระดับ ทล.4027 (ทางเลี่ยงเมือง) ตอน บ้านเมืองใหม่-แยกเข้าสนามบิน ระหว่าง กม. ที่ 18+850-20+800 และโครงการทางแยกต่างระดับจุดตัด ทล.402 กับ ทล.4027 (ทางเลี่ยงเมือง) (แยกท่าเรือ) บริเวณอนุสาวรีย์ฯ ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ข้อสั่งการใน 3 ประเด็น ดังนี้

1.ผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานฝ่ายปกครอง ตำรวจภูธรภาค 8 ตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกับ ทล. เพื่ออำนวยความสะดวกในการแก้ไขปัญหาจราจร รวมถึงลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งระยะสั้นและระยะก่อสร้าง

2.ให้หน่วยงานด้านสาธารณูปโภค อาทิ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาคและหน่วยงานด้านสาธารณูปโภคอื่น ๆ ในพื้นที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ดำเนินการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคให้แล้วเสร็จก่อนการดำเนินการก่อสร้าง และขอความร่วมมือจากกรมศิลปากรในการให้คำแนะนำและร่วมกำกับดูแลการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์ฯ เพื่อให้การเคลื่อนย้ายเป็นไปอย่างปลอดภัย เป็นระเบียบเรียบร้อย สง่างามสมเกียรติ ถูกต้องตามหลักวิชาการ

3.ให้กระทรวงการคลังพิจารณาผ่อนผันระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 สำหรับโครงการก่อสร้างทางหลวงขนาดใหญ่ของ ทล. ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ให้กำหนดค่าปรับเป็นรายวันในอัตรา 0.25% ของราคางานจ้าง เป็น 1% ของราคางานจ้าง เพื่อป้องกันความล่าช้าเสียหายจากงานก่อสร้างที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่

Loading

Back to top button