เช็คก่อนแตะ!! ก่อนใช้บัตรเครดิต/เดบิตเดินทางด้วยรถไฟฟ้า MRT ต้องรู้อะไร?
วันนี้ (22 เม.ย.2567) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ระบุว่า ในโลกของสังคมไร้เงินสดในปัจจุบันนี้ เราสามารถใช้จ่ายได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้นด้วยแอปพลิเคชั่นและบัตรใบเดียว สำหรับการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะประเภทต่าง ๆ และรถไฟฟ้าก็สะดวกสบายไม่แพ้กัน เพียงแค่มีบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต ที่เป็นบัตร EMV Contactless ก็สามารถแตะจ่ายค่าโดยสารได้ในทันที ดังเช่น ที่รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง ที่ BEM ได้เพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสารด้วยช่องทางการชำระค่าโดยสารด้วยบัตรเครดิต Visa / Mastercard ของทุกธนาคารและบัตรเดบิตของธนาคารกรุงไทยและยูโอบี และเพื่อให้ทุกท่านได้แตะจ่ายและเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
BEM ได้รวบรวม 5 ข้อต้องรู้สำหรับการเดินทางด้วยบัตร EMV มาให้แล้ว
– บัตรเครดิต/เดบิตที่จะใช้เดินทางต้องมีสัญลักษณ์ Contactless หรือสัญลักษณ์ WIFI แนวนอน
– ผู้โดยสารควรยืนหลังเส้นสีเหลืองบริเวณประตูจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติเมื่อแตะบัตร
– บริเวณจุดแตะบัตรจะอยู่ด้านบนของประตูจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ ซึ่งมีสัญลักษณ์ Contactless ที่คล้ายสัญญาณ WIFI ในแนวนอน
– ใช้บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต 1 คน 1 ใบ ตลอดการเดินทาง และแตะเข้า-ออกระบบที่ประตูจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติด้วยบัตรใบเดียวกัน
– หากผู้โดยสารอยู่ในสถานีนานเกินกว่าเวลาที่กำหนด หรือไม่มีการแตะบัตรออกจากสถานี ระบบจะคำนวณค่าโดยสารตามอัตราสูงสุดในขณะนั้น
สำหรับบัตรเครดิต / บัตรเดบิต EMV Contactless ได้รับการพัฒนาด้วยเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความปลอดภัยสูงสุด ป้องกันการโจรกรรมข้อมูลบัตรเครดิต โดยชิปที่ใช้ในบัตรจะเป็นการสร้างรหัสการทำธุรกรรมในการชำระเงินที่ไม่ซ้ำกัน ช่วยลดโอกาสในการปลอมแปลงบัตรและการขโมยเลขบัตรไปใช้ และนอกจากบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตแล้ว ผู้โดยสารยังสามารถใช้บัตรพรีเพด (Prepaid Card) หรือบัตรทราเวลการ์ด (Travel Card) ที่มีสัญลักษณ์ Contactless เพื่อเข้า-ออกระบบรถไฟฟ้า MRT ได้เช่นเดียวกัน ความสะดวกสบายของระบบการชำระเงินเหล่านี้ จะช่วยยกระดับไลฟ์สไตล์ของผู้โดยสารในเมืองง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยที่เชื่อถือได้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสีม่วง ได้ที่ศูนย์บริการข้อมูล โทร. 0 2624 5200 หรือติดตามทางช่องทาง Facebook (เฟซบุ๊ก) และ X (เอ็กซ์) : BEM Bangkok Expressway and Metro / Instagram (อินสตาแกรม) : mrt_bangkok และ Mobile Application (โมบายแอปพลิเคชัน) : Bangkok MRT