“สุริยะ” ถกผู้บริหาร “สนามบินนานาชาติปักกิ่ง” พร้อมใช้ระบบ AI บริหารจัดการ ดันไทยก้าวสู่ “ฮับการบิน”
“สุริยะ” ถกผู้บริหาร “สนามบินนานาชาติปักกิ่ง” เล็งใช้ระบบ AI บริหารจัดการท่าอากาศยาน พร้อมเตรียมนำมาประยุกต์ใช้ในไทย หวังช่วยลดพลังงาน-ระยะเวลา อำนวยความสะดวกการเดินทางนักท่องเที่ยว ผลักดันไทยก้าวสู่ “ฮับการบิน” สนองนโยบายรัฐบาล
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ค.2567 ที่ผ่านมา ได้เข้าพบและหารือร่วมกับ Ms. LI ying รองประธานบริหารและฝ่ายสารสนเทศ ท่าอากาศยานนานาชาติปักกิ่ง (Beijing Capital International Airport) พร้อมด้วยการเยี่ยมชมศูนย์ควบคุมข้อมูล และการจัดการภายในท่าอากาศยานฯ โดยเฉพาะการนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาเพิ่มประสิทธิภาพ และบริหารจัดการภายในท่าอากาศยาน
ทั้งนี้ จากการเยี่ยมชมท่าอากาศยานนานาชาติปักกิ่งนั้น กระทรวงคมนาคม จึงมีแนวทางในการนำระบบ AI เข้ามาประยุกต์ใช้ในท่าอากาศยานของประเทศไทย เพื่อช่วยบริหารจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการได้เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย รวมถึงสร้างความปลอดภัยสูงสุดให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว ที่สำคัญยังเป็นการผลักดันนโยบายของรัฐบาลที่ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางการบิน (Aviation Hub) อย่างเป็นรูปธรรมตามแผนที่วางไว้
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า จากการรายงานถึงภาพรวมของท่าอากาศยานนานาชาติปักกิ่ง ระบุว่า ท่าอากาศยานนานาชาติปักกิ่งเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2542 ปัจจุบันมีอาคารผู้โดยสารรวม 3 แห่ง มีช่องจอดอากาศยาน จำนวน 372 ช่อง และมี 3 เส้นทางวิ่ง (Runway) โดยมีจำนวนสารการบินให้บริการรวม 82 สายการบิน ในจุดหมายปลายทางทั้งสิ้นรวม 221 แห่ง แบ่งเป็น เส้นทางภายในประเทศจำนวน 138 แห่ง และเส้นทางระหว่างประเทศจำนวน 83 แห่ง
ขณะเดียวกัน นับตั้งแต่การเปิดให้บริการตัังแต่ปี 2542 นั้น ท่าอากาศยานนานาชาติปักกิ่งได้เริ่มกำหนดเป้าหมายที่จะเป็นท่าอากาศยานอัจฉริยะ (Smart Airport) ภายในปี 2556 โดยได้ดำเนินการพัฒนาท่าอากาศยานมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากการออกแบบและจัดเก็บรวบรวมข้อมูล (Big Data) ให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น เพื่อนำมาใช้ในการคำนวณวิเคราะห์และจัดระบบบริหาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในงานต่าง ๆ ภายในท่าอากาศยาน เช่น การให้บริการช่องจอดอากาศยาน การเช็คอินบัตรโดยสาร การโหลดสัมภาระ สายพานลำเลียงกระเป๋า เป็นต้น
ขณะที่ ในปี 2563 ท่าอากาศยานนานาชาติปักกิ่งได้ใช้ยุทธศาสตร์ iBCIA 1355 มาดำเนินงานกับท่าอากาศยาน โดยมีเป้าหมายให้ท่าอากาศยานเป็นท่าอากาศยานที่ปลอดภัย (Safe) เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green) เป็นระบบอัจฉริยะ (Smart) และเป็นมิตรกับมนุษยชาติ (Humanistic) นอกจากนี้ ยังมีการนำระบบ AI มาเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบโหลดเที่ยวบิน (Flight Load Monitoring)
ทั้งนี้ เพื่อเข้ามาบริหารจัดการในเรื่องพนักงานขนกระเป๋า, การทำความสะอาดเครื่องเมื่อเครื่องลงจอด และการบำรุงรักษาเครื่องก่อนที่จะขึ้นบินอีกครั้ง ซึ่งสามารถช่วยลดระยะเวลา จากเดิมใช้เวลา 4 ชั่วโมงให้ลดลงเหลือเพียง 2 นาทีเท่านั้น ซึ่งจากการรายงาน พบว่า ท่าอากาศยานนานาชาติปักกิ่งได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลผ่านระบบ AI มาเป็นระยะ 9 ปี เพื่อประมวลผลในด้านต่าง ๆ และคาดการณ์ล่วงหน้า เพื่อแก้ไขสถานการณ์ไม่ให้เกิดความล่าช้าด้วย
นายสุริยะ กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของศูนย์ควบคุมข้อมูลของท่าอากาศยานนานาชาติปักกิ่ง สามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อบริหารจัดการ ทั้งในฝั่งเขตการบิน (Airside) และเขตนอกการบิน (Landside) โดยมีการใช้เครื่องมือ และอุปกรณ์กล้องวงจรปิดภายในท่าอากาศยานถึงกว่า 16,000 ตัว รวมถึงระบบเซ็นเซอร์อีกกว่า 22,000 ตัว ทำให้การควบคุมความเคลื่อนไหวภายในท่าอากาศยานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ตั้งแต่ผู้โดยสารขาออก เมื่อเดินทางมาถึงท่าอากาศยาน เพื่อไปทำการเช็คอิน โหลดกระเป๋า และไปขึ้นเครื่อง (ผู้โดยสารขาออก) และผู้โดยสารขาเข้า เพื่อให้ทราบว่าขณะนี้มีคนรอใช้บริการระบบรถสาธารณะจำนวนกี่คนและใช้เวลากี่นาที ซึ่งการนำ AI มาใช้ประมวลผลนี้จะทำให้สามารถบริหารจัดการท่าอากาศยานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัดพลังงาน ลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ลงได้อย่างมาก รวมถึงการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินด้วยเช่นกัน