Transport

ลุยโครงการขยายช่องระบายน้ำทางรถไฟ เพิ่มประสิทธิภาพพื้นที่แก้มลิง แก้น้ำท่วมเมืองกาญจน์

“นายกรัฐมนตรี” ติดตามโครงการขยายช่องระบายน้ำบริเวณทางรถไฟ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำพื้นที่แก้มลิง แก้ไขปัญหาน้ำท่วมตัวเมืองกาญจนบุรี ในพื้นที่ย่านสถานีกาญจนบุรี

เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคณะ ลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้าโครงการขยายช่องระบายน้ำบริเวณทางรถไฟ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี พร้อมด้วย นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม น.ส.ณภัทรา กมลรักษา เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการ พร้อมร่วมหารือประเด็นปัญหาและการพัฒนาด้านต่าง ๆ รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี โดยมีนายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ให้การต้อนรับ ณ พื้นที่ย่านสถานีกาญจนบุรี

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ รฟท. ระบุว่า ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ เป็นการติดตามนโยบายที่มอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีกาญจนบุรี เนื้อที่ 124 ไร่ ซึ่งแบ่งการพัฒนาเป็น 3 โซน ประกอบด้วย 1.พื้นที่ตลาดกลางค้าปลีก-ค้าส่ง 40 ไร่ 2.โซน B พื้นที่อยู่อาศัยระยะยาว โครงการบ้านเพื่อคนไทย 41 ไร่ และ 3.โซน C พื้นที่สวนสาธารณะและแก้มลิง 43 ไร่ ซึ่งการรถไฟฯ ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างขยายช่องระบายน้ำทางรถไฟ จำนวน 2 จุด ให้สอดรับกับโครงการระบบระบายน้ำบ้านหัวนาล่างของกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแก้มลิง

ซึ่งปัจจุบันมีน้ำอยู่ประมาณ 32,640 ลูกบาศก์เมตร สามารถรองรับน้ำเพิ่มได้อีก 22,000 ลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ หากการรถไฟฯ ขุดลอกลึกเพิ่มอีก 1 เมตร จะสามารถรองรับน้ำเพิ่มขึ้นได้อีก 27,200 ลูกบาศก์เมตร รวมเป็น 49,200 ลูกบาศก์เมตร เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี โดยได้จัดสรรงบประมาณปี 2567 สำหรับดำเนินการคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างภายในเดือน ก.ค.2567 ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 180 วัน

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงเรื่องการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งที่ดี มีประสิทธิภาพ ซึ่งหากเสร็จสมบูรณ์แล้ว จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมขนส่งของจังหวัด พื้นที่ใกล้เคียงและเชื่อมโยงการเดินทาง การขนส่งกับภูมิภาคอื่น ๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย สามารถรองรับปริมาณการเดินทางและการขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

Loading

Back to top button