“มนพร” สั่งเจ้าท่าเสริมทรายชายหาดชะอำ 6 กม. กว่า 1,442 ล้าน พลิกโฉมชายหาดสวย
“มนพร” ลงพื้นที่เพชรบุรี ตรวจโครงการเสริมทรายชายหาดชะอำ ระยะทาง 6.05 กม. 3 เฟส งบฯ 1,442.87 ล้านบาท เริ่มดำเนินการปีนี้ ลดปัญหาการกัดเซาะ ฟื้นชายหาดให้สวยงาม เสริมเศรษฐกิจท่องเที่ยว
วันนี้ (13 พ.ค.2567) นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนายสรพันธ์ คุณากรวงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม และนายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) ลงพื้นที่ จ.เพชรบุรี ตรวจเยี่ยมโครงการเสริมทรายชายหาดและป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และสำรวจพื้นที่จุดที่มีการขอรับงบประมาณก่อสร้างท่าเทียบเรือบ้านแหลม ณ จ.เพชรบุรี
นางมนพร กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมในการเดินหน้าพลิกฟื้นชายหาดท่องเที่ยวในที่ต่าง ๆ ให้มีความสวยงาม และลดปัญหาการกัดเซาะ เพื่อช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ ที่ผ่านมาได้รับข้อร้องเรียนจากประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ชายหาดชะอำเรื่องปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง รวมทั้งได้รับการร้องขอจากกลุ่มชาวประมงบริเวณวัดไทรย้อย ให้ดำเนินการปรับปรุงเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง ให้สามารถกำบังคลื่นลมได้ดียิ่งขึ้นเพื่อยกระดับความสะดวกและปลอดภัยต่อการประกอบอาชีพประมงและการใช้ประโยชน์พื้นที่ด้านหลังเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง ซึ่งในวันนี้ได้ลงพื้นที่บริเวณชายหาดชะอำ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกกัดเซาะมากที่สุด
โดยกรมเจ้าท่า (จท.) อยู่ระหว่างดำเนินโครงการเสริมทรายชายหาดและป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ระยะทางรวม 6.05 กิโลเมตร ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1,442.87 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้
– ระยะที่ 1 บริเวณร้านอาหารปลาทู-ถนนโยธาธิการ (กม.1+500-กม.3+200) ระยะทางประมาณ 1.7 กิโลเมตร งบประมาณ 554.94 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 ระยะทาง 800 เมตร งบประมาณ 270 ล้านบาท โดยเสริมทรายชายหาดกว้างเฉลี่ย 50-80 เมตร ซึ่งได้รับงบประมาณปี 2567 อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง และตอนที่ 2 ระยะทาง 900 เมตร งบประมาณ 284.94 ล้านบาท ประกอบด้วย เสริมทรายชายหาดกว้างเฉลี่ย 50 เมตร ก่อสร้างกำแพงหินบริเวณปากคลองบางควาย พร้อมทั้งขุดลอกคลองและปรับปรุงเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่งเดิมบริเวณหน้าวัดไทรย้อย และปรับปรุงระบบระบายน้ำ
– ระยะที่ 2 (ซอยร่วมจิตร-ลานชมวิวหาดชะอำ) (กม.6+800-กม.9+800) ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร งบประมาณ 598.61 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 ระยะทาง 1.5 กิโลเมตร งบประมาณ 299.305 ล้านบาท โดยเสริมทรายชายหาดกว้างเฉลี่ย 50 เมตร และตอนที่ 2 ระยะทาง 1.5 กิโลเมตร งบประมาณ 299.305 ล้านบาท โดยเสริมทรายชายหาดกว้างเฉลี่ย 50 เมตร
– ระยะที่ 3 (ลานชมวิวหาดชะอำ-บริเวณร้านอาหารไอ เลิฟ สวีต) (กม. 9+800-กม. 11+150) ระยะทาง 1.35 กิโลเมตร งบประมาณ 289.32 ล้านบาท โดยเสริมทรายชายหาดกว้างเฉลี่ย 50 เมตร
นางมนพร กล่าวต่อว่า บริเวณชายหาดชะอำมีการถูกกัดเซาะเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักของอำเภอชะอำ ที่มีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติเดินทางมาจำนวนมาก เนื่องจากมีชายหาดและทะเลที่สวยงาม รวมทั้งมีการคมนาคมที่สะดวก ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จากกรุงเทพฯ
สำหรับโครงการเสริมทรายชายหาดชะอำ จะเริ่มดำเนินการภายในปี 2567 โดยปริมาณทรายที่ใช้ในการเสริมทรายทั้ง 3 ระยะ ประมาณ 1,439,000 ลูกบาศก์เมตร
ภายหลังโครงการฯ แล้วเสร็จ จะทำให้ชายหาดมีความกว้างเฉลี่ย 50-80 เมตร พร้อมแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่ง ฟื้นฟูระบบนิเวศและช่วยบูรณะให้ชายหาดชะอำกลับมาสวยงาม รองรับกิจกรรมสันทนาการบนชายหาด และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้ชุมชนและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย
ทั้งนี้ ได้มอบให้ จท. ศึกษาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนกันคลื่น เพื่อหาแนวทางป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งที่เหมาะสมอย่างยั่งยืน สำหรับโครงการเสริมทรายชายหาดฯ บริเวณชายหาดชะอำ ฝั่งด้านเหนือ ได้สั่งการให้ จท. ประสานหน่วยงานส่วนท้องถิ่น เพื่อจัดทำข้อมูลเป็นโครงการเร่งด่วนในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ในครั้งนี้ เพื่อพิจารณาขอรับการจัดสรรงบประมาณจากงบกลาง เพื่อเร่งดำเนินการ
นอกจากนี้ มอบนโยบายให้ จท. ปรับปรุงและออกแบบภูมิทัศน์ชายหาดให้สวยงามเหมาะกับการทำกิจกรรมทางน้ำและกิจกรรมสันทนาการบนชายหาดสำหรับประชาชนและนักท่องเที่ยว โดยใช้ชายหาดจอมเทียน จ.ชลบุรี เป็นต้นแบบ
นางมนพร กล่าวต่ออีกว่า ในวันนี้ได้ลงพื้นที่ตำบลบ้านแหลมเพื่อรับฟังปัญหาและความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ โดยสมาคมประมงอำเภอบ้านแหลม องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแหลม และเทศบาลตำบลบ้านแหลม ได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างท่าเทียบเรือบ้านแหลม เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับขนถ่ายสัตว์น้ำ รวมทั้งรองรับการเทียบท่าของเรือประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน โดยที่ผ่านมา จท. ได้ดำเนินการขุดลอกร่องน้ำบ้านแหลม เพื่อให้เรือสามารถเข้าเทียบท่าที่ตำบลบ้านแหลมได้
ทั้งนี้ จากที่ชุมชนขอรับการสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างท่าเทียบเรือนั้น กระทรวงฯ พร้อมผลักดันโครงการเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน โดยมอบให้ จท. พิจารณาใช้งบเหลือจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 เพื่อศึกษาและออกแบบโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือฯ จากนั้นจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณก่อสร้าง และขอรับการจัดสรรงบประมาณต่อไป ซึ่งท่าเทียบเรือดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกต่อการทำอาชีพประมง รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทางและขนส่ง ทำให้ประชาชนในพื้นที่สามารถสัญจรได้สะดวกขึ้น และเป็นการสนับสนุนส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์