Transport

“คมนาคม” เช็กผลเปิดใช้งานทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ รถไฟฟ้าสายสีชมพู เพิ่มสะดวกเดินทางเต็มที่

“คมนาคม” ลุยตรวจเปิดใช้งานทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ รถไฟฟ้าสายสีชมพู พร้อมตามงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ เข้มมาตรการป้องกัน-แก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม

วันนี้ (17 พ.ค.2567) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้ นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) เป็นผู้แทน พร้อมด้วย น.ส.ณภัทรา กมลรักษา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการเปิดใช้งานทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ (Walkalator) ของรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี โดยมี นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทน ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผู้บริหาร รฟม. และผู้แทนบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานให้การต้อนรับ ณ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ของรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) ระบุว่า นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เร่งรัดการเปิดใช้งานทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ (Walkalator) บริเวณทางเชื่อมต่อระหว่างสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู และสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PP11) รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) มาโดยตลอด จนมีความพร้อมสมบูรณ์และสามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2567 เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าได้อย่างเต็มที่

อีกทั้งยังช่วยเติมเต็มการเดินทางเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟฟ้าให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยบริเวณทางเดินเชื่อมต่อดังกล่าว ได้มีการติดตั้งทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ (Walkalator) รวมจำนวน 6 ชุด (ทิศทางละ 3 ชุด) แต่ละชุดมีความยาว 60 เมตร กว้าง 1.4 เมตร เลื่อนด้วยความเร็ว 0.75 เมตร/วินาที ซึ่งจะลดระยะเวลาในการเดินทางได้เกือบ 4 นาที นอกจากนี้ยังได้ติดตั้งระบบเซ็นเซอร์และข้อความเสียงแจ้งเตือน “สิ้นสุดทางเลื่อน โปรดระมัดระวัง” และกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการอีกด้วย โดยผู้รับสัมปทานได้เปิดให้บริการทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ (Walkalator) ในวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 05.40-24.00 น. และ วันเสาร์-อาทิตย์ /วันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 06.00-24.00 น.

จากนั้น คณะได้โดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง จากสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PP11) ไปยังสถานีเตาปูน (PP16) เพื่อเยี่ยมชมจุดเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ซึ่งเมื่อโครงการฯ แล้วเสร็จ จะทำให้สถานีเตาปูน (PP16) เป็นสถานีรถไฟฟ้าที่ประชาชนสามารถเดินทางเชื่อมต่อสู่จุดหมายปลายทางได้หลากหลายทิศทาง

พร้อมกันนี้ คณะได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ณ บริเวณสถานที่ก่อสร้างอุโมงค์ (Cut & Cover) ในพื้นที่กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ถนนทหาร เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้แทนจากบริษัทที่ปรึกษา PMCSC1 และผู้แทนจากกิจการร่วมค้า ซีเคเอสที-พีแอล ผู้รับจ้างก่อสร้างสัญญาที่ 1 ช่วงเตาปูน-หอสมุดแห่งชาติ ให้การต้อนรับ

กระทรวงคมนาคมได้เน้นย้ำให้ รฟม. คุมเข้มการดำเนินงานในทุกขั้นตอนการก่อสร้างของผู้รับสัมปทาน/ผู้รับจ้าง ให้เป็นไปตามมาตรการความปลอดภัยสูงสุด ทั้งต่อตัวผู้ปฏิบัติงานเองและประชาชนที่สัญจรผ่าน ควบคู่กับการดำเนินงานตามมาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและฝุ่นละออง PM 2.5 ตรวจวัดแรงสั่นสะเทือน ในระหว่างการก่อสร้างโครงการฯ ทุกสัญญาอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง

รวมถึงให้มีการบรรเทาผลกระทบจากการเบี่ยงจราจรในระหว่างการก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ที่เป็นช่วงของการเปิดภาคเรียน ให้ รฟม. ดำเนินมาตรการรองรับการเดินทางในช่วงเปิดเทอม โดยบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนให้ได้มากที่สุด ตลอดจนพิจารณาการคืนผิวจราจรหรือให้ใช้พื้นผิวจราจรสำหรับกิจกรรมก่อสร้างเท่าที่จำเป็น และไม่กระทบต่อการสัญจรของประชาชนหรือให้กระทบน้อยที่สุด

นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทนผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้า สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มีแนวเส้นทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ที่สถานีเตาปูน รองรับการเดินทางของประชาชนจาก จ.นนทบุรี เข้าสู่พื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในและสถานที่สำคัญบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ ไปยังพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ระยะทางรวมทั้งสิ้น 23.63 กิโลเมตร แบ่งเป็นโครงสร้างใต้ดิน 14.29 กิโลเมตร โครงสร้างยกระดับ 9.34 กิโลเมตร มีสถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี

ซึ่ง รฟม. ได้เริ่มการก่อสร้างโครงการฯ ตั้งแต่เดือน เม.ย.2565 ปัจจุบันมีความก้าวหน้างานโยธาในภาพรวม 31.89% (ณ สิ้นเดือน เม.ย.2567) ซึ่งเร็วกว่าแผนงาน 9% โดย รฟม. ได้กำกับดูแลให้ผู้รับจ้างดำเนินงานตามมาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและฝุ่นละออง PM 2.5 ในระหว่างการก่อสร้างอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง ได้แก่ การติดตั้งรั้วสูง 2 เมตร ล้อมรอบพื้นที่ก่อสร้าง ปิดคลุมกองวัสดุก่อสร้าง/กระบะรถบรรทุก ล้างทำความสะอาดถนนสาธารณะสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ทำความสะอาดล้อรถก่อนออกจากพื้นที่ก่อสร้าง ตรวจสอบสภาพเครื่องจักรให้อยู่ในสภาพดี ติดตั้งกำแพงกันเสียงชั่วคราวในพื้นที่ที่กำหนด ติดตั้งเครื่องหมายจราจรสำหรับการเตือนและการเบี่ยงช่องจราจร ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบล่วงหน้า ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการก่อสร้างที่มีเสียงดัง/สั่นสะเทือน

นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินมาตรการเพิ่มเติมนอกเหนือจากมาตรการในรายงาน EIA เช่น เพิ่มความถี่ในการล้างทำความสะอาดถนนสาธารณะเป็นทุกวัน ทำความสะอาดถนนสาธารณะโดยใช้รถกวาดดูดฝุ่นทุกวัน ติดตั้งระบบฉีดพ่นละอองน้ำแรงดันสูง (High Pressure Water System) กำแพงกันเสียงชั่วคราวบริเวณ Cut & Cover เป็นต้น พร้อมทั้งประเมินผลการปฏิบัติตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของผู้รับจ้างทุก 1 ปี

โดย รฟม. จะมอบโล่รางวัลและใบประกาศเกียรติคุณให้ผู้รับจ้างที่มีผลการปฏิบัติตามมาตรการ EIA ครบถ้วนเพื่อเป็นการสนับสนุนและเสริมสร้างกำลังใจแก่ผู้รับจ้างที่มีผลการปฏิบัติงานด้านสิ่งแวดล้อมที่ยอดเยี่ยม ติดตามข้อมูลข่าวสาร รฟม. เพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ รฟม. www.mrta.co.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ Call Center รฟม. โทรศัพท์ 0 2716 4044

 

Loading

Back to top button