“บขส.” ลุยแผนธุรกิจระยะสั้น 6 โครงการ ตั้งธงนำรถโดยสารใหม่มาให้บริการปลายปีนี้
บขส. เร่งแผนพัฒนาธุรกิจระยะสั้น 6 โครงการ “รุกตลาดขนส่งพัสดุภัณฑ์ ผุดทำแอปฯ ขายตั๋วกับรถร่วมเอกชน” พร้อมจัดหารถโดยสารใหม่ ตั้งเป้าทยอยนำมาให้บริการปลายปี 67 ยกระดับบริการสาธารณะ-เพิ่มรายได้องค์กร
วันนี้ (24 มิ.ย.2567) นายอรรถวิท รักจำรูญ กรรมการฯ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งการให้ บขส. เร่งรัดดำเนินแผนพัฒนาธุรกิจ เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการใช้บริการของ บขส. ให้กับประชาชน และสร้างรายได้ให้กับองค์กรนั้น โดยบริษัทฯ มีแนวทางดำเนินการแผนระยะสั้น ในปี 2567 และ ระยะยาว ปี 2568 – 2570 เพื่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และเกิดผลเป็นรูปธรรมไว้เรียบร้อยแล้ว
สำหรับแผนพัฒนาธุรกิจ ระยะสั้น ในปี 2567 ปัจจุบันได้ดำเนินไป 6 โครงการ มีความคืบหน้าดังนี้
1.โครงการขนส่งสินค้า และพัสดุภัณฑ์ แบบ Hub to Door ร่วมกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการดำเนินงาน การกำหนดอัตราค่าบริการ และขั้นตอนการดำเนินงาน
2.โครงการจัดหารถโดยสารเช่าใหม่ คาดว่าจะได้นำรถมาให้บริการประชาชนในช่วงปลายปี 2567 เป็นต้นไป เพื่อรองรับความต้องการในการใช้บริการของประชาชนรวมทั้งระบบมาตรฐานความปลอดภัย
3.โครงการพัฒนาแอปพลิเคชันจำหน่ายตั๋วรถโดยสารของ บขส. และผู้ประกอบการรถร่วมเอกชน อยู่ระหว่างการศึกษารวบรวมความต้องการขั้นตอนการใช้บริการของผู้โดยสาร เพื่อจัดทำแนวทางพัฒนาแอปพลิเคชัน
4.โครงการ บขส. เที่ยวทั่วไทย มู Amazing ซึ่ง บขส. ได้จัดทำกิจกรรมแบบเช้า-เย็นกลับ (วันเดย์ทริป) เส้นทางจันทบุรี เขาคิชฌกูฏ, กิจกรรมแบบค้างคืน เส้นทางบึงกาฬ และให้บริการรถโดยสารไม่ประจำทาง ให้บริการเช่าเหมา เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับองค์กร และจะมีการขยายในเส้นทางอื่นๆ ต่อไป
5.โครงการศึกษาอัตราการจัดเก็บค่าใช้สถานีขนส่งผู้โดยสาร (สถานีต้นทาง) อยู่ระหว่างกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) พิจารณากำหนดอัตราค่าบริการใหม่ ก่อนออกร่างราชกิจจานุเบกษา เพื่อประกาศและบังคับใช้ต่อไป
6.โครงการเดินรถระหว่างประเทศส่งเสริมการท่องเที่ยวทุกมิติโดยความร่วมมือระหว่างประเทศ ร่วมกับ สปป.ลาว เวียดนาม เมียนมา กัมพูชา มาเลเซีย อยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจเส้นทางและทำข้อตกลง
อย่างไรก็ตาม บขส. พร้อมเร่งรัดดำเนินการแผนพัฒนาธุรกิจขององค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประสบความสำเร็จในทุกโครงการ เกิดการยกระดับบริการระบบขนส่งสาธารณะที่สะดวก ปลอดภัย ประชาชนเกิดความประทับใจในการเดินทาง เชื่อมั่นในการใช้บริการ ส่งผลดีกับรายได้ และภาพลักษณ์ขององค์กรต่อไป