”มนพร“ เผยปี 68 ของบฯ 800 ล้าน ขยาย 4 เลน ทล.3296 สายดอนตูม-บางเลน
“มนพร” แจง ขยายทางหลวง 3296 สายดอนตูม-บางเลน เป็น 4 เลน อำนวยความสะดวก ปลอดภัยผู้ใช้ทาง เสนอของบปี 68 วงเงินกว่า 800 ล้านบาทแล้ว คาดเปิดบริการปี 71
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ได้รับมอบหมายจากนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ชี้แจงและตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 4 ก.ค.2567 ประเด็นโครงการขยายทางหลวงหมายเลข 3296 สายดอนตูม-บางเลน เป็น 4 ช่องจราจร ได้สำรวจออกแบบพร้อมเร่งผลักดันก่อสร้างโครงการ ให้เสร็จภายใน 3 ปี เพื่อเป็นโครงข่ายเชื่อมโยงการเดินทางและขนส่งสินค้า สร้างความสะดวก ปลอดภัยในการเดินทางของพี่น้องประชาชน ขณะนี้อยู่ระหว่างขอรับการจัดสรรงบประมาณ 2568
ทางหลวงหมายเลข 3296 สาย อ.ดอนตูม-อ.บางเลน จ.นครปฐม เป็นโครงข่ายทางหลวงสายรอง เชื่อมโยงระหว่างอำเภอดอนตูม และอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร เป็นเส้นทางสายเศรษฐกิจเชื่อมโยงเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ปัจจุบันมีปริมาณการจราจรสูงประมาณ 27,000 คันต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี กระทรวงคมนาคม
โดยกรมทางหลวง (ทล.) ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการสัญจรบนทางหลวงสายนี้ จึงได้ดำเนินการสำรวจและออกแบบเส้นทางเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันโครงการฯ ได้รับการพิจารณาบรรจุในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณปี 2568 เพื่อดำเนินการก่อสร้างให้เป็น 4 ช่องจราจร พร้อมติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย และไฟฟ้าส่องสว่าง พร้อมสร้างจุดกลับรถทั้งในรูปแบบของสะพานลอย จุดกลับรถใต้สะพาน และแนวราบ ตามความเหมาะสมทางวิศวกรรมเพื่อความสะดวกปลอดภัยของพี่น้องประชาชนผู้ใช้เส้นทาง
ซึ่งกรมทางหลวงจะนำรูปแบบการก่อสร้างนี้ นำเสนอในการประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจร่วมกัน ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.2567 (ภายหลังที่ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 มีผลบังคับใช้) คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2568 และเปิดให้บริการได้ในปี 2571 ใช้เวลาดำเนินการ 3 ปี วงเงินค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 800 ล้านบาท
ส่วนปัญหาการโจรกรรมสายไฟ หรืออุปกรณ์งานทางอื่น ที่มีความรุนแรงและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่นครปฐมและตามแนวเส้นทางของกรมทางหลวง ส่งผลต่อความไม่ปลอดภัยในการใช้เส้นทางของพี่น้องประชาชน กระทรวงคมนาคมไม่ได้นิ่งนอนใจและได้สั่งการให้ ทล. พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนแล้ว
เบื้องต้นมีแนวทางในการดำเนินการ ได้แก่
1.มาตรการป้องปราม ให้เจ้าหน้าที่ของกรมทางหลวงกวดขัน ตรวจตราความเรียบร้อยของสายทางอย่างต่อเนื่อง หากตรวจพบผู้กระทำผิดให้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม และดำเนินการตามกฎหมายขั้นสูงสุด
2.ใช้รูปแบบการก่อสร้างหรือติดตั้งที่รื้อถอนได้ยาก
3.การใช้วัสดุทดแทน ซึ่งไม่ได้เป็นเป้าหมายในการโจรกรรม
4.ใช้เทคโนโลยีสนับสนุนการเฝ้าระวัง เช่น การติดตั้งกล้องวงจรปิดไร้สายให้ครอบคลุมโครงข่ายถนนในความรับผิดชอบ
5.การบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นในพื้นที่ และภาคประชาชน เพื่อร่วมกันเฝ้าระวังและสร้างจิตสำนึกสาธารณะ