ขโมยของหลวงมีโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี!! หลังมีเหตุขโมยฝาตะแกรงเหล็กปิดบ่อพัก-รางระบายน้ำ @ถนนประจวบคีรีขันธ์
“กรมทางหลวงชนบท” ลั่นขโมยของหลวงมีโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี หลังตรวจพบผู้ลักลอบโจรกรรมฝาตะแกรงเหล็กปิดบ่อพักและรางระบายน้ำ บนถนนสาย ปข.2052 และสาย ปข.2057 จ.ประจวบคีรีขันธ์ วอนประชาชนหากพบเหตุสามารถแจ้งสายด่วน 1146
วันนี้ (18 ก.ค.2567) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ระบุว่า หมวดบำรุงทางหลวงชนบทปราณบุรี แขวงทางหลวงชนบทประจวบคีรีขันธ์ ได้ออกตรวจสายทางบริเวณสะพานข้ามทางหลวงหมายเลข 37 บนทางหลวงชนบท สาย ปข.2052-บ้านไทรงาม ช่วงต่อเนื่องกับทางหลวงชนบท สาย ปข.2057-บ้านหัวนา อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
หลังได้รับแจ้งเบาะแสจากผู้นำชุมชนในพื้นที่ พบฝาตะแกรงเหล็กสำหรับปิดบ่อพักและรางระบายน้ำสูญหาย จึงได้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรหัวหิน เข้าตรวจค้นร้านรับซื้อของเก่าแห่งหนึ่ง โดยพบฝาตะแกรงเหล็กจำนวนมาก คาดว่าเป็นของกรมทางหลวงชนบทที่ถูกโจรกรรมไป
เบื้องต้นได้นำอุปกรณ์ความปลอดภัยมาติดตั้งบริเวณที่ถูกขโมยฝาตะแกรงบ่อพักและรางระบายน้ำ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับคนเดินเท้าและผู้ใช้รถใช้ถนน เป็นการชั่วคราว และได้ติดต่อขอคืนของกลางที่อายัดไว้มาติดตั้งกลับเข้าที่เดิมโดยเร็ว
ทั้งนี้ ทช. ขอเตือนการลักทรัพย์ของทางราชการมีโทษตามกฎหมาย โดยการกระทำดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนที่สัญจรไป-มา ไม่ได้รับความสะดวกปลอดภัยและเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งยังเป็นความผิดฐานทำลายหรือทำให้เสียหายแก่ทางหลวง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับตาม พ.ร.บ. ทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 43 ประกอบมาตรา 72 ซึ่งเจ้าพนักงานทางหลวงมีอำนาจจับกุมในขณะกระทำความผิดได้
เมื่อกระทำโดยมีเจตนาลักทรัพย์จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานลักทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 100,000 บาท ตามมาตรา 335 (10) และหากร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป หรือกระทำในเวลากลางคืน จะมีโทษหนักขึ้นตามมาตรา 335 วรรคสอง จำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 140,000 บาท และผู้กระทำผิดต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทรัพย์สินที่เสียหายและสูญหายนั้นด้วย
สำหรับผู้ที่ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ดังกล่าว มีความผิดฐานรับของโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาทถึง 200,000 บาท
อย่างไรก็ตาม ทช. ขอความร่วมมือจากประชาชนในการร่วมสอดส่องดูแลทรัพย์สินของทางราชการ หากพบเหตุผิดปกติโปรดแจ้งที่สายด่วนกรมทางหลวงชนบท 1146 หรือสำนักงานทางหลวงชนบท แขวงทางหลวงชนบท และหมวดบำรุงทางหลวงชนบทในพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนและเป็นการร่วมกันดูแลรักษาทรัพย์สินของทางราชการให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าต่อไป