Transport

“สุริยะ” นั่งหัวโต๊ะ กบร. ให้ใบอนุญาตบริการเครื่องบินเช่าเหมาลำ หวังดึง Luxury Tourism เข้าประเทศ

“สุริยะ” นั่งหัวโต๊ะ กบร. ให้ใบอนุญาตบริการเครื่องบินเช่าเหมาลำ หวังดึง Luxury Tourism เข้าประเทศ พร้อมอนุมัติข้อบังคับ กพท. ดันมาตรฐานการบริการและความปลอดภัยเทียบเท่าสากล

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) พิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือน ประเภทการขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์แบบไม่ประจำ พร้อมปรับแผนธุรกิจของบริษัทผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนในการจัดหาเครื่องบินให้เหมาะสม สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจในสถานการณ์ปัจจุบัน และกำหนดนโยบายในการยกระดับให้ประเทศไทยก้าวเป็นที่หนึ่งของการเป็นศูนย์กลางทางการบิน (Aviation Hub) และศูนย์กลางทางการท่องเที่ยว (Tourism Hub) ของภูมิภาค เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 ก.ค.2567 ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม

นายสุริยะ กล่าวว่า ได้มอบให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เร่งรัดการดำเนินงานเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยให้เป็นที่หนึ่งของการเป็นศูนย์กลางทางการบิน (Aviation Hub) และศูนย์กลางทางการท่องเที่ยว (Tourism Hub) ของภูมิภาค ด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบ Luxury Tourism ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและมีรายได้สูงเข้ามาท่องเที่ยวและใช้จ่ายภายในประเทศ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาด้วยเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว แต่เนื่องจากกฎหมายของไทยในปัจจุบันยังคงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมทางการบิน ดังนั้น จึงต้องให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น ภายใต้มาตรฐานสากลขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ทั้งในด้านความปลอดภัย (Safety) และด้านการรักษาความปลอดภัย (Security) เพื่อไม่ให้เกิดอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมการบิน การดำเนินการเชิงนโยบายการรองรับนักท่องเที่ยวแบบ Luxury Tourism

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือน ประเภทการขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์ แบบไม่ประจำให้กับบริษัท แอร์ เอเอ็มบี จํากัด ผู้ประกอบการรายแรกที่นำอากาศยานแบบ Pilatus PC 12NG มาใช้ในประเทศไทย เพื่อให้บริการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศ และให้บริการเช่าเหมาลำส่วนตัว โดยใบอนุญาตนี้จะมีอายุ 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาต

ด้าน นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการ กพท. กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบร่างข้อบังคับของ กพท. ฉบับที่ .. ว่าด้วยสิทธิทำการของผู้ถือใบอนุญาตนักบิน พนักงานควบคุมการจราจรทางอากาศ และพนักงานอำนวยการบิน โดยยกเลิกฉบับเดิม (ฉบับที่ 7) และยกร่างข้อบังคับขึ้นใหม่ ให้อ้างอิงหลักเกณฑ์และมาตรฐานของ ICAO Annex 1 Personnel Licensing และ Part-Flight Crew Licencing (Part – FCL) และ Part – Air Traffic Controllers (Part – ATCO) เพื่อยกระดับมาตรฐานผู้ประจำหน้าที่และความปลอดภัยการบิน รวมทั้งเห็นชอบร่างข้อบังคับของ กพท. เกี่ยวกับการกำหนดอายุใบอนุญาตผลิตภัณฑ์ โดยกำหนดให้ใบอนุญาตผลิตอากาศยานมีอายุ 30 ปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต ใบอนุญาตผลิตส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานมีอายุ 20 ปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต ใบอนุญาตผลิตชิ้นส่วนรับรองคุณภาพมีอายุ 10 นับแต่วันที่ออกใบอนุญาต และใบอนุญาตผลิตบริภัณฑ์มีอายุ 10 นับแต่วันที่ออกใบอนุญาต

พร้อมทั้งการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนธุรกิจของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือน จำนวน 6 บริษัท โดยเป็นการขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนการจัดหาอากาศยานให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจในสถานการณ์ปัจจุบัน จำนวน 5 ราย คือ 1) บริษัท เอ็มเจ็ท จำกัด 2) บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) 3) บริษัท แอร์ อินเตอร์ ทรานสปอร์ต จำกัด และ 4) บริษัท เค-ไมล์ แอร์ จำกัด และ 5) บริษัท ไทย ไลอ้อน เมนทารี จำกัด และเป็นการขอเปลี่ยนชื่อบริษัท จำนวน 1 ราย คือ บริษัท ไทย ซีเพลน จำกัด (จากเดิมชื่อ บริษัท อวานติ แอร์ ชาร์เตอร์ จำกัด)

Loading

Back to top button