“สุรพงษ์” ยกโมเดล ท่าบกนานาชาติเทิงจวิ้น ดันโลจิสติกส์ทางรางไทย-จีน
“สุรพงษ์” เยี่ยมชมท่าบกนานาชาติเทิงจวิ้น สร้างความร่วมมือด้านโลจิสติกส์ทางรางระหว่างไทย-จีน
วันนี้ (22 ก.ค.2567) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนางสาวณภัทรา กมลรักษา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) และเจ้าหน้าที่กระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้องได้เดินทางเข้าเยี่ยมชม ศูนย์โลจิสติกส์ทัณฑ์บนเทิงจวิ้น คลังสินค้ามาตรฐานดิจิทัล 5G คลังสินค้า cold chain อัจฉริยะ และศูนย์ควบคุมของศูนย์โลจิสติกส์ทางรถไฟและถนน ของท่าบกนานาชาติเทิงจวิ้น (Tengiun International Land Port) มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน
นายสุรพงษ์ ระบุว่า ท่าบกนานาชาติเทิงจวิ้น เป็นศูนย์โลจิสติกส์ครบวงจรที่สำคัญของมณฑลยูนนาน ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองนครคุนหมิงไปทางทิศใต้ประมาณ 55 กิโลเมตร มีพื้นที่รวมกว่า 1,500 ไร่ ด้วยมูลค่าการลงทุน 11,000 ล้านหยวน ซึ่งมีแผนก่อสร้างศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ ศูนย์คลังสินค้าอัจฉริยะ ศูนย์ขนส่งสินค้าทางรถไฟและถนนแบบหลายรูปแบบ ศูนย์โลจิสติกส์ทันฑ์บน และศูนย์จัดหาจัดซื้อระหว่างประเทศ รวม 16 โครงการ ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จและเปิดดำเนินการแล้ว 6 โครงการ นอกจากนี้ คลังสินค้า cold chain อัจฉริยะได้เริ่มทดลองดำเนินการในเดือน ก.ค.2567 ซึ่งสามารถรองรับผักและผลไม้ รวมถึงทุเรียนและมังคุดจากไทย ที่ต้องรักษาอุณหภูมิในการขนส่งด้วยตู้สินค้าควบคุมอุณหภูมิ (Reefer Container)
ท่าบกนานาชาติเทิงจวิ้น เป็นหนึ่งท่าบกนานาชาติใน 17 ท่าบกที่ได้รับการรับรองใน “ข้อตกลงระหว่างรัฐบาลว่าด้วยท่าบก” ของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเซียและแปซิฟิกของสหประชาชาติ โดยมีรหัสท่าเรือนานาชาติ CNKML มีจุดเด่นสำคัญคือ การเป็นศูนย์บริการโลจิสติกส์ครบวงจร มีโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถรองรับการขนส่งหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการเชื่อมต่อระหว่างถนนและระบบราง นอกจากนี้ ยังเป็นจุดแรกที่ทางรถไฟลาว-จีนเข้าสู่คุนหมิง โดยมีระยะทางรถไฟห่างจากสถานีบ่อหานประมาณ 800 กิโลเมตร ใช้เวลาขนส่งทางรถไฟจากสถานีบ่อหานถึงท่าบกเทิงจวิ้น ประมาณ 6-8 ชั่วโมง เนื่องจากต้องรอเวลาหลีกให้ขบวนรถโดยสารวิ่งผ่านไปก่อน ปัจจุบันมีการขนส่งสินค้าทางรถไฟลาว-จีนมาที่ท่าบกนานาชาติเทิงจวิ้น วันละ 5-6 ขบวน ขบวนละ 15-25 ตู้
ท่าบกนานาชาติเทิงจวิ้น มีศูนย์โลจิสติกส์ทางรางและถนนเทิงจวิ้น มีพื้นที่ 194 ไร่ ใช้เงินลงทุน 790 ล้านหยวน เป็นสถานีขนส่งสินค้าชั้นหนึ่งของประเทศ และเป็นสถานีเฉพาะที่เชื่อมต่อกับสถานีของรัฐบาลจีนอย่างไร้รอยต่อเพียงแห่งเดียวในประเทศจีน และเป็นหนึ่งใน 12 โครงการนำร่องการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบของประเทศ โดยศูนย์โลจิสติกส์ทางรางและถนนเทิงจวิ้น มีทางรถไฟรองรับการขนส่งสินค้า 3 ทาง ประกอบด้วย 2 ทางเป็นแบบต่อเนื่อง และ 1 ทางเป็นทางตัน มีอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น เครนขาสูงแบบติดตั้งบนราง (Rubber Tyre Rail Mounted Container Gantry : RMG) รองรับน้ำหนัก 40.5 ตัน จำนวน 5 ตัว และรถยกตู้คอนเทนเนอร์ (Reach stacker) จำนวน 6 คัน มีลานกองเก็บตู้สินค้าคอนเทนเนอร์กลางแจ้ง คลังสินค้าบนชานชาลา อาคารสำนักงานแบบครบวงจร เป็นต้น
ภายหลังการเยี่ยมชม ตนและคณะได้เข้าร่วมประชุมหารือกับฝ่ายจีน นำโดยนายเซี่ย จวิ้นซง อธิบดีกรมคมนาคมมณฑลยูนนาน พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ระหว่างไทย-จีน โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศไทยได้ในอนาคต
การเยี่ยมชมครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาความร่วมมือด้านโลจิสติกส์ระหว่างไทยและจีน โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้าระหว่างสองประเทศ และหวังว่าจะได้ร่วมมือกับฝ่ายจีนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อในอนาคตอันใกล้
ด้านนายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า การเยี่ยมชมท่าบกนานาชาติเทิงจวิ้นครั้งนี้ ทำให้เราได้เห็นถึงศักยภาพของการเชื่อมโยงระบบขนส่งทางรางระหว่างไทย ลาวและจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้าระหว่างสองประเทศ ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางรางพร้อมที่จะร่วมมือกับฝ่ายจีนในการพัฒนาระบบขนส่งทางรางและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงโลจิสติกส์ระหว่างไทยและจีนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
การเยือนมณฑลยูนนานและการเยี่ยมชมท่าบกนานาชาติเทิงจวิ้นครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ระหว่างไทยและจีน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสองประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป