“เจ้าท่า” เสริมทักษะ-ความรู้ การจัดการและบริหารการเรียกร้องค่าเสียหายจากมลพิษน้ำมัน
“กรมเจ้าท่า” จัดฝึกอบรม-ประชุมเชิงปฏิบัติการระดับชาติ การจัดการและบริหารการเรียกร้องค่าเสียหายจากมลพิษน้ำมัน สร้างความรู้-ทักษะให้เหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันดำเนินการอย่างเป็นประสิทธิภาพ
เมื่อวานนี้ (3 ก.ย.2567) กรมเจ้าท่า (จท.) จัดโครงการ “ฝึกอบรมและประชุมเชิงปฏิบัติการระดับชาติ เรื่อง การจัดการและบริหารการเรียกร้องค่าเสียหายจากมลพิษน้ำมัน (National workshop on handling and administration of claims from oil pollution damages)” โดยมีนายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปลอดภัย เป็นประธานเปิดการอบรม โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนในกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน เข้าร่วมฝึกอบรมฯ ณ ห้องพัชราวดี 1 อาคาร 2 ชั้น 11 โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการพัฒนาในหลายภาคส่วนอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมพลังงาน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมากและมาพร้อมกับความเสี่ยงเช่นกัน โดยเฉพาะมลพิษน้ำมันที่อาจเกิดขึ้นจากการขนส่ง การสำรวจ และการผลิตน้ำมันในทะเล ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลหรืออุบัติเหตุทางทะเลที่ส่งผลให้น้ำมันรั่วลงสู่ทะเล ผลกระทบที่ตามมานั้นมีความรุนแรงและครอบคลุมทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศทางทะเล สุขภาพของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศ และการจัดการกับปัญหานี้ไม่เพียงแต่จำเป็นต้องมีการตอบสนองฉุกเฉินอย่างทันท่วงที
แต่ยังต้องมีการบริหารจัดการการเรียกร้องค่าเสียหายอย่างเป็นระบบและเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน ต้องอาศัยความรู้เฉพาะทาง ซึ่งรวมถึงความเข้าใจในกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายท้องถิ่น การประเมินความเสียหาย การเจรจาต่อรอง และการจัดการการเงินที่เกี่ยวข้อง
กรมเจ้าท่า ร่วมกับองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) กองทุนชดเชยมลพิษน้ำมันระหว่างประเทศ (IOPC Funds) และองค์กร The Global Initiative South East Asia (GI-SEA) จึงจัดการฝึกอบรมและประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว ระยะเวลา 3 วัน (ระหว่างวันที่ 3-5 ก.ย.2567) เพื่อสร้างความรู้และทักษะให้แก่เหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน เกิดความรู้ ความเข้าใจ ในการบริหารจัดการการเรียกร้องค่าเสียหายจากมลพิษน้ำมันของประเทศไทยให้ดำเนินการอย่างเป็นประสิทธิภาพ พร้อมทั้งสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ที่ได้รับจากกรณีศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ การจัดการฝึกอบรม เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการจัดการและบริหารการเรียกร้องค่าเสียหายจากมลพิษน้ำมันให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและภาคธุรกิจในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของประเทศให้คงอยู่ในสภาพที่ดีในระยะยาวต่อไป