“สุริยะ” ยันแก้สัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ไม่มีเอื้อประโยชน์ให้เอกชน
“สุริยะ” ยัน แก้สัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ไม่มีเอื้อประโยชน์ให้เอกชน เพราะต้องผ่านตาอัยการ เชื่อทำความเข้าใจพรรคร่วมฯ ได้ พร้อม แจงเหตุโควิด ทำรัฐ - เอกชน ผิดสัญญา เล็ง ผู้รับเหมาต้องวาง หนังสือค้ำประกันโดยธนาคาร หวั่นทิ้งงาน พร้อมจ้างรายอื่นสร้างต่อทันที
เมื่อเวลา 09.15 น. วันที่ 22 ต.ค.2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขสัญญารถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน (อู่ตะเภา - สุวรรณภูมิ – ดอนเมือง) ว่า วันนี้ยังไม่เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา พร้อมยืนยันว่าการแก้ไขสัญญา เกิดจากเอกชนและภาครัฐผิดสัญญา จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของชุดไวรัสโควิด- 19 ทำให้โครงการเกิดความล่าช้า รัฐบาลไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนได้ ขณะที่เอกชนก็ไม่สามารถดำเนินการได้ จึงเป็นต่างคนต่างผิดสัญญา
จึงต้องพิจารณาใหม่ เนื่องจากเป็นหนึ่งในโครงการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งหากเชื่อม 3 สนามบินจะทำให้ประชาชนเดินทางสะดวก การค้าขายดีขึ้น จึงต้องเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป จึงต้องมาพิจารณาร่วมกันในการแก้ไขสัญญา เพื่อไม่ให้รัฐเสียประโยชน์ โดยสัญญาเดิมจะให้เอกชนสร้างจนเสร็จ และหลังจากนั้น 10 ปีรัฐบาลจะค่อยชำระเงิน
ขณะที่สัญญาใหม่ จะให้เอกชนนำเงินมาวางค้ำประกันจากธนาคารเพื่อการันตี และเมื่อสร้างเสร็จ รัฐบาลจะคืน หนังสือค้ำประกันโดยธนาคาร หรือ แบงก์การันตีให้ โดยในการก่อสร้างแล้วเสร็จแต่ะช่วงจะแบ่งเป็นแต่ละสัญญา หากมีการทิ้งงานรัฐจะนำเงินค้ำประกันจ้างผู้ประกอบการรายใหม่
นายสุริยะ ยืนยันว่า ไม่ใช่การเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใหญ่ โดยดอกเบี้ยเอกชนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ พร้อมระบุว่าไม่สามารถเอื้อประโยชน์ให้ได้เนื่องจากสัญญาได้ให้อัยการตรวจสอบทั้งหมดแล้ว โดยการนำเข้าครมจะผ่าน โครงการ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC โดยมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้รับผิดชอบ นอกจากนี้ นายสุริยะ ยังกล่าวอีกว่า จะสามารถทำให้พรรคร่วมรัฐบาลเข้าใจในการแก้ไขสัญญาโครงการดังกล่าวได้