ขนส่งฯ ย้ำ!!! ผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสาร – รถบรรทุก ต้องมี TSM
“กรมการขนส่งทางบก” ย้ำ!!! ผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารและรถบรรทุกต้องจัดให้มี TSM พร้อมกำกับ ดูแลการปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มงวด เพื่อให้ขนส่งทางถนนมีความปลอดภัย ศึกษา – ดาวน์โหลดคู่มือแนวทางปฏิบัติหน้าที่ของ TSM ได้ที่ www.tsmthai.com
วันนี้ (4 พ.ย.2567) นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และโฆษกกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ระบุว่า ตามที่ กรมการขนส่งทางบกได้ออกประกาศกรมฯ กำหนดให้ผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารและรถบรรทุกในประเทศไทย ต้องจัดให้มีบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง (Transport Safety Manager : TSM) เพื่อปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ การจัดการรถ การจัดการผู้ขับรถ การจัดการการเดินรถ การจัดการบรรทุกและการโดยสาร และการบริหารจัดการ การวิเคราะห์และประเมินผล ซึ่งบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง หรือ TSM นั้น มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการยกระดับการขนส่งทางถนนให้มีประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุอันมาจากความไม่พร้อมของตัวรถและพนักงานขับรถ
ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกกำชับผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารและรถบรรทุกต้องต้องจัดให้มีบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง (Transport Safety Manager : TSM) ตามกรอบเวลาที่กรมฯกำหนดอย่างเคร่งครัด สำหรับผู้มีความประสงค์จะขึ้นทะเบียนเป็นบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง (TSM)สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและยื่นสมัครเข้ารับการทดสอบความรู้พร้อมแนบหลักฐานได้ที่ www.tsmthai.com และสามารถจองคิวเพื่อขอเข้ารับการทดสอบความรู้ได้ทางแอปพลิเคชัน DLT Smart Queue หรือเว็บไซต์ https://gecc.dlt.go.th เพื่อมาทดสอบความรู้ได้ที่ สำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบก อาคาร 8 ชั้น 1 กรมการขนส่งทางบก สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1- 4 หรือสำนักงานขนส่งจังหวัด และสำนักงานขนส่งจังหวัดสาขาทั่วประเทศ
กรมการขนส่งทางบกขอเน้นย้ำการปฏิบัติงานของบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง (TSM) ให้เป็นตามระเบียบอย่างเคร่งครัด ดังนี้
1.ยืนยันการตรวจสอบความปลอดภัยของยานพาหนะ โดยเรียกดูและตรวจสอบแบบฟอร์มตรวจสอบยานพาหนะประจำวันจากพนักงานขับรถ ก่อนอนุญาตให้มีการปล่อยรถ
2.ยืนยันการตรวจแอลกอฮอล์ของพนักงานขับรถ ทั้งก่อนและหลังปฏิบัติงาน
3.ยืนยันการตรวจสอบสุขภาพและความพร้อมของพนักงานขับรถ โดยการสอบถามและสังเกตอาการของพนักงานขับรถว่าไม่มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ง่วงนอน และอาการป่วยไข้
4.แจ้งผลการตรวจสอบเส้นทางการขนส่งให้กับพนักงานขับรถรับรู้เกี่ยวกับจุดเสี่ยงและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากสภาพเส้นทางและสภาพอากาศ และกำหนดจุดพัก จุดจอด จุดตรวจสอบความปลอดภัย รวมทั้งติดตามสถานะการขนส่งตลอดการเดินทาง
5.ตรวจสอบแผนการปฏิบัติงาน โดยให้ตรวจสอบและยืนยันแผนการขนส่งกับพนักงานขับรถอีกครั้ง เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด และเน้นย้ำการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานขับรถ
6.ยืนยันการตรวจสอบความเรียบร้อยในการบรรทุกและการโดยสาร โดยให้เรียกดูและตรวจสอบรายการบรรทุก การจัดเรียงสินค้า และการรัดตรึง ในกรณีรถโดยสารให้เรียกดูแผนผังที่นั่งและรายชื่อ รวมทั้งจำนวนผู้โดยสาร
7.ติดตามและตรวจสอบสถานะการขนส่งตลอดการเดินทาง
กรมการขนส่งทางบกได้มีการจัดทำคู่มือการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง (TSM) ประจำวัน เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง (TSM) ให้มีประสิทธิภาพ โดยสามารถดาวน์โหลดคู่มือได้ที่ www.tsmthai.com สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line official: @tsmthai