“บวท.” ลุยโครงการ “โดรนเกษตรปลอดภัย” นำร่องนครพนม สร้างความปลอดภัยทางการบิน
“บวท.” นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้สร้างประโยชน์แก่สังคม เร่งเดินหน้าโครงการโดรนเกษตรปลอดภัย ให้ความรู้เรื่องการใช้โดรนเกษตรที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการควบคุมจราจรทางอากาศ และส่งเสริมการใช้โดรนเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร โดยนำร่องที่ อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม พร้อมขยายผลไปยังพื้นที่เกษตรกรรมต่าง ๆ ทั่วประเทศ
วันนี้ (12 พ.ย.2567) นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ประเทศไทยมีการนำโดรนมาใช้ในภาคการเกษตรเพิ่มมากขึ้น โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยถึง 200% และยังมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงได้มอบหมายให้ บวท. ดำเนินโครงการ “โดรนเกษตรปลอดภัย” โดยให้ผู้บริหารและพนักงานผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ลงพื้นที่ ให้ความรู้ในด้านการกำกับดูแลห้วงอากาศ การสาธิตการบินโดรนที่ถูกต้อง การใช้อุปกรณ์ และกฎระเบียบการบินโดรน เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้โดรนเกษตร แก่ฝ่ายปกครองท้องที่ จำนวน 350 คน ณ ที่ทำการ อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เพิ่งผ่านพ้นจากอุทกภัย
โครงการนี้จึงเป็นการสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรและยังส่งเสริมการใช้โดรนเกษตรอย่างถูกต้อง ไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยทางการบิน อีกทั้งเป็นการเพิ่มจำนวนโดรนเกษตร ตามโครงการเกษตรอัจฉริยะให้ได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น และสามารถขยายผลไปยังพื้นที่เกษตรกรรมต่าง ๆ ทั่วประเทศในอนาคต ส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย
ด้าน นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บวท. กล่าวว่า บวท. ได้วางแผนเชิงรุกในการสื่อสารและสร้างการรับรู้ในการใช้โดรนเกษตรอย่างปลอดภัย ทั้งในแง่ของการใช้ห้วงอากาศและการบินเพื่อการเกษตร โดยมุ่งพัฒนาฝึกอบรมครูการบินและนักบินโดรนเกษตร พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเชื่อมต่อโดรนเกษตรกับภาคส่วนต่าง ๆ ทำให้ห้วงอากาศเกิดการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยร่วมกัน โดยการกำหนดพื้นที่ทำงานด้วยจีโอเฟนซิ่ง หรือ “Geo-caging”
สำหรับโดรนเกษตร คือ การตั้งค่าขอบเขตเสมือนในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่กำหนดไว้ โดรนจะถูกโปรแกรมไม่ให้บินออกนอกขอบเขตเหล่านี้ จีโอเฟนซิ่งถูกใช้เพื่อปรับปรุงการเกษตรแบบแม่นยำ โดยกำหนดขอบเขต ตั้งค่าโปรแกรม ทำให้แน่ใจว่าโดรนจะทำงานภายในพื้นที่ที่กำหนดสำหรับการทำงานต่าง ๆ เช่น การพ่นยา การตรวจสอบ หรือการปลูกพืช อีกทั้งช่วยป้องกันไม่ให้โดรนเข้าไปในพื้นที่ที่ถูกจำกัดหรืออันตราย เช่น บริเวณสายไฟฟ้า พื้นที่ที่อยู่อาศัย หรือพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวต่อสิ่งแวดล้อม ถือเป็นการประยุกต์ใช้องค์ความรู้และนวัตกรรมของ บวท. สร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่สังคม