เปิดใช้แล้ว!! 4 เลน ทล.3481 ตอน บ.หัวไผ่ – การเคหะฯ @ปราจีนบุรี ยกระดับเส้นทาง EEC
“กรมทางหลวง” ขยาย 4 ช่องจราจร ทล.3481 ตอน บ.หัวไผ่ – การเคหะฯ จ.ปราจีนบุรี ระยะทาง 11.8 กม. งบฯ 949 ล้านบาท แล้วเสร็จ ยกระดับเส้นทางสู่ภาคตะวันออก เพิ่มประสิทธิภาพการจราจร เชื่อมโยง EEC
วันนี้ (20 พ.ย.2567) กรมทางหลวง (ทล.) ระบุว่า สำนักก่อสร้างทางที่ 2 ประกาศความสำเร็จโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 3481 สาย บ.บางขนาก – ปราจีนบุรี ตอน บ.หัวไผ่ – การเคหะฯ ปราจีนบุรี เริ่มต้นที่ กม.47+200 – กม.53+300 และ กม.54+450 – กม.60+200 พื้นที่ อ.เมือง และ อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี รวมระยะทาง 11.8 กิโลเมตร วงเงินงบประมาณ 949 ล้านบาท เพื่อรองรับปริมาณจราจรในอนาคต เชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งระหว่างกรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา และ ปราจีนบุรี
โครงการนี้มุ่งเน้นการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งที่สำคัญของภาคตะวันออก โดยทางหลวงหมายเลข 3481 สาย บ.บางขนาก – ปราจีนบุรี ตอน บ.หัวไผ่ – การเคหะฯ ปราจีนบุรี เป็นเส้นทางหลักที่เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างกรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี รองรับการสัญจรของประชาชนในพื้นที่ และการขนส่งสินค้าระหว่างภูมิภาค ซึ่งในปัจจุบันมีปริมาณการจราจรที่หนาแน่นและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เดิมมีขนาด 2 ช่องจราจร (ไป – กลับ) สภาพเส้นทางมีความเสียหายเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางและการขนส่งของประชาชน ด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
กรมทางหลวงจึงได้บูรณะและขยายสายทางดังกล่าวให้เป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ระหว่าง กม.47+200 – กม.53+300 และ กม.54+450 – กม.60+200 ลักษณะผิวจราจรแบบแอสฟัสต์คอนกรีต ความกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้าง 2.50 เมตร แบ่งทิศทางการจราจรด้วยเกาะกลางแบบยก (Raied Median) และเกาะกลางแบบกำแพงคอนกรีต (Barrier Median) รวมงานติดตั้งไฟแสงสว่าง ไฟสัญญาณจราจร และติดตั้งป้ายเตือนเพื่อความปลอดภัยตลอดเส้นทาง
ปัจจุบันกรมทางหลวงได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ สามารถรองรับปริมาณการจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย สนับสนุนระบบการขนส่งโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มความปลอดภัย รองรับการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ และเชื่อมโยงโครงข่ายทางหลวงกับกลุ่มประเทศ EEC การขยายเส้นทางนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจราจร ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สนับสนุนระบบ โลจิสติกส์ระหว่างภาคตะวันออกกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งเสริมการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยว เสริมศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน