“กรมทางหลวงชนบท” ก่อสร้างถนนสาย พท.4003 จ.พัทลุง ระยะทาง 13.800 กม. งบประมาณ 164.750 ล้านบาท ส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวรอบทะเลสาบสงขลาสู่ระดับนานาชาติ พร้อมยกระดับด้านการคมนาคมขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายมนตรี เดชาสกุลสม อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ระบุว่า ได้ก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสาย พท.4003 แยก ทล.4050 – บ้านจงเก อำเภอเมือง, เขาชัยสน จังหวัดพัทลุง เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวทะเลสาบสงขลาไปสู่ระดับสากลอย่างยั่งยืน เน้นความต่อเนื่อง ความสวยงาม ความสะดวกปลอดภัย และยังสามารถแบ่งเบาปริมาณจราจรในถนนสายหลักภาคใต้ (ทล.4 และ ทล.408) กรณีถนนสายหลักเกิดกรณีฉุกเฉินได้อีกด้วย
สำหรับชายฝั่งทะเลภาคใต้ตอนล่างนั้น มีเส้นทางตั้งแต่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสิ้นสุดที่จังหวัดสงขลา และมีทัศนียภาพที่สวยงาม มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง เหมาะที่จะพัฒนาให้เป็นโครงข่ายเส้นทางท่องเที่ยวที่สำคัญในระดับนานาชาติต่อไปในอนาคต
โครงการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสาย พท.4003 แยก ทล.4050 – บ้านจงเก อำเภอเมือง, เขาชัยสน จังหวัดพัทลุง มีจุดเริ่มต้นการก่อสร้างบริเวณ กม.ที่ 0+000 ตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง และไปสิ้นสุดบริเวณ กม.ที่ 13+800 ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง โดยก่อสร้างเป็นถนนแอสฟัลต์ติกคอนกรีต ขนาด 2 ช่องจราจร ไป – กลับ ผิวจราจรกว้างข้างละ 3.5 เมตร ไหล่ทางข้างละ 1 – 2.5 เมตร พร้อมก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก จำนวน 13 แห่ง ก่อสร้างจุดพักรถ จุดชมทัศนียภาพ ระบบระบายน้ำ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง
ตลอดจนการติดตั้งเครื่องหมายจราจร สิ่งอำนวยความปลอดภัย เพื่อรองรับปริมาณจราจรที่เพิ่มขึ้นและสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคใต้ รวมระยะทาง 13.800 กิโลเมตร ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 164.750 ล้านบาท
ปัจจุบันโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จสมบูรณ์ พร้อมเปิดให้ประชาชนใช้สัญจรได้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งจากภาคกลางสู่ภาคใต้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกระดับการท่องเที่ยวลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาสู่ต้นแบบการท่องเที่ยวยั่งยืน และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของพื้นที่ เตรียมพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวที่มาพร้อมกับการเติบโตของเศรษฐกิจ จากโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ อีกทั้ง มีส่วนช่วยผลักดันยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน