“สุรพงษ์” กดปุ่มเริ่มเดินเครื่องหัวเจาะอุโมงค์ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ช่วงสะพานพุทธ – ดาวคะนอง พร้อมอัปเดท!! ความก้าวหน้าการก่อสร้างงานโยธา 47.95% คาดเปิดให้บริการภายในปี 2572 เน้นย้ำมาตรการลดผลกระทบมลพิษฝุ่นละออง อำนวยความสะดวกในการจราจรในพื้นที่
วันนี้ (25 ม.ค.2568) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีเริ่มเดินเครื่องหัวเจาะอุโมงค์ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) สัญญาที่ 4 ช่วงสะพานพุทธ – ดาวคะนอง โดยมี นายมนตรี ตั้งเจริญถาวร ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) นายมนตรี เดชาสกุลสม ประธานกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทนผู้ว่าการ รฟม. ร่วมพิธี
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมมอบหมายให้ รฟม. กำกับดูแลการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยมีแนวเส้นทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม ที่สถานีเตาปูน เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนจาก จ.นนทบุรี เข้าสู่พื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นใน และสถานที่สำคัญบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ ไปยังพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ซึ่งการเดินเครื่องเจาะอุโมงค์โครงการในสัญญาที่ 4 ช่วงสะพานพุทธ – ดาวคะนอง ครั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงถึงความก้าวหน้าในการดำเนินงานก่อสร้าง
โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 23.63 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 14.29 กิโลเมตร สถานีใต้ดิน 10 สถานี และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 9.34 กิโลเมตร สถานียกระดับ 7 สถานี มีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากสถานีเตาปูน ซึ่งเป็นสถานีร่วมกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) และรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) โดยปัจจุบัน โครงการฯ มีความก้าวหน้าการก่อสร้างงานโยธา คิดเป็นร้อยละ 47.95 ตามแผนงานมีกำหนดเปิดให้บริการภายในปี 2572
นายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า ได้เน้นย้ำกรมการขนส่งทางราง รฟม. และผู้รับจ้างในเรื่องการปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยในงานก่อสร้างอย่างเคร่งครัด และจัดการจราจรระหว่างการก่อสร้างให้เหมาะสม เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน ควบคู่กับการดำเนินงานตามมาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม คุณภาพอากาศ และฝุ่นละอองในระหว่างการก่อสร้างอย่างเคร่งครัดต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและความมั่นใจแก่ประชาชนในทุกด้าน
กระทรวงคมนาคมได้มีแผนในการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ให้ตอบโจทย์กับพฤติกรรมการเดินทางของประชาชน เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่องสู่ทุกภูมิภาคเพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งสาธารณะโดยรวม และพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าให้เชื่อมโยงการเดินทางจากสถานีขนส่งสู่แหล่งท่องเที่ยว พื้นที่เศรษฐกิจ หรือย่านที่พักอาศัย และรักษามาตรฐานการบริการที่มีความสะดวกปลอดภัย ส่งเสริมจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหามลพิษและฝุ่นละอองจากภาคคมนาคมขนส่งอย่างยั่งยืน