“ไทย – ฝรั่งเศส” กระชับความร่วมมือด้านขนส่ง จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ และลงนาม MOU พัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีระบบราง
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบให้ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการขนส่ง 4 สาขา ระหว่างไทย-ฝรั่งเศส ครั้งที่ 2 และร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) (สทร.) กับกลุ่มธุรกิจระบบรางฝรั่งเศส 5 แห่ง เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 ณ โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพฯ
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ระบุว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการขนส่ง 4 สาขา ระหว่างไทย-ฝรั่งเศส ในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือด้านคมนาคมระหว่างไทยและฝรั่งเศส เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี และการพัฒนาร่วมกันในด้านการขนส่งต่าง ๆ โดยการประชุมแบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมเป็น 4 สาขา ได้แก่ ด้านการบิน ด้านระบบรางและการขนส่งในเมือง ด้านยานยนต์และการขนส่งทางถนน และด้านการขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์ ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือและการพัฒนาร่วมกันในด้านการขนส่ง รวมถึงการยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า สนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายด้านการขนส่งของรัฐบาลและยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งมุ่งหวังที่จะเพิ่มประสิทธิภาพ ส่งเสริมการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปลอดภัยยิ่งขึ้น ตลอดจนสร้างระบบการขนส่งที่ครอบคลุมทั่วประเทศ
สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) (สทร.) กับกลุ่มธุรกิจระบบรางฝรั่งเศส 5 แห่ง ภายใต้การสนับสนุนของสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เป็นการส่งเสริมการดำเนินการเพื่อพัฒนาทักษะ และความเชี่ยวชาญของบุคลากรด้านระบบราง สร้างความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างไทย-ฝรั่งเศส โดยเฉพาะการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ
โดยการลงนามร่วมกับกลุ่มธุรกิจระบบรางฝรั่งเศส 5 แห่ง ได้แก่ บริษัท อีจีส เรล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท อัลสตอม บริษัท วอสส์โลห์ โคจิเฟอร์ เอส.เอ บริษัท ซิสตร้า เอ็ม วี เอ (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัท โพมา เอสเอเอส MOU ฉบับนี้มีอายุ 2 ปี และมุ่งเน้นในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านการศึกษาและการพัฒนาบุคลากร สทร. และกลุ่มบริษัทฝรั่งเศสได้ตกลงร่วมจัดหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรระบบรางในด้านเทคโนโลยีชั้นสูง โดยเป็นการถ่ายทอดความรู้จากกลุ่มบริษัทฝรั่งเศส และ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2566 สทร. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ESTACA ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา AI สำหรับศูนย์ควบคุมการเดินรถไฟ ด้านการฝึกอบรม สทร. ได้ร่วมหารือกับผู้เชี่ยวชาญฝรั่งเศส และกับสถาบันฝึกอบรมการรถไฟ เพื่อดำเนินการด้านการฝึกอบรมบุคลากรในอุตสาหกรรมระบบราง
ตลอดจนจะร่วมกันพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมที่จะเป็นประโยชน์กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (รฟม.) และผู้ประกอบการเดินรถต่าง ๆ ด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี ได้มีความร่วมมือในการถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างไทยและฝรั่งเศสในด้านระบบรางมีหลายรูปแบบ โดยฝรั่งเศสได้สนับสนุนการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีผ่านการส่งวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาร่วมบรรยายในการประชุมวิชาการ การส่งผู้เชี่ยวชาญมาทำงานร่วมกับ สทร. เป็นระยะยาวเพื่อแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ และการจัดการประชุมเชิงเทคนิคเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับแบบจำลองและเกณฑ์การเลือกรถไฟฟ้าในเมือง การเสนอการอบรมภายในสำหรับ สทร. และการจัดอบรมหลักสูตร “Smart and Sustainable Urban Mobility with AI-powered Analytics” เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการถ่ายทอดองค์ความรู้จากฝรั่งเศส
นอกจากนี้ สทร. ได้เยี่ยมชมโรงงานของ Vossloh Cogifer และห้องปฏิบัติการ Digital Mobility Lab ของ Alstom เพื่อสำรวจโอกาสในการเพิ่มการผลิตภายในประเทศ รวมทั้งมีการหารือเกี่ยวกับข้อมูล OEM ที่บริษัทไทยผลิตให้บริษัทฝรั่งเศส เพื่อส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตภายในประเทศ
นอกเหนือจากความร่วมมือด้านระบบราง การประชุมยังครอบคลุมความร่วมมือในด้านการขนส่งอื่น ๆ เช่น การนำมาตรฐานและเทคโนโลยีสากลมาปรับใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์และอากาศยาน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ และการส่งเสริมการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย