Logistic

“กรมราง” เตรียมพร้อมส่งทุเรียน 7-8 แสนตัน ผ่านรถไฟไทย-ลาว-จีน

“กรมราง” ลุยลงพื้นที่ “ระยอง-จันทบุรี” กำกับติดตามความพร้อมการส่งออกทุเรียนในฤดูกาลของผลิต ช่วง มี.ค.-ก.ค. ทะลุ 700,000-800,000 ตัน จากภาคตะวันออกไปจีน ผ่านรถไฟไทย-ลาว-จีน

นายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) พร้อมคณะตรวจเยี่ยมจากกรมการขนส่งทางราง และสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (สทร.) ลงพื้นที่ร่วมกับนายพิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 เพื่อกำกับติดตามเตรียมความพร้อมการขนส่งออกทุเรียนภาคตะวันออกผ่านระบบรางไปยังจีนในฤดูกาลของการผลิตปี 2566

ปัจจุบันการส่งออกทุเรียนจากภาคตะวันออกไปยังประเทศจีน ผู้ประกอบการขนส่งสินค้ามีทางเลือกในการใช้เส้นทางการขนส่งหลากหลายรูปแบบ ประกอบด้วย 1.ทางถนน 2 เส้นทาง คือ ผ่านด่านศุลกากรเชียงของ จ.เชียงราย ผ่าน สปป.ลาว ไปยังนครคุนหมิง หรือ ผ่านด่านศุลกากรมุกดาหาร/นครพนมไปยัง สปป.ลาว เวียดนาม ที่ปลายทางนครหนานหนิงและนครกวางโจว

2.ทางรถไฟจากสถานีรถไฟมาบตาพุด จ.ระยอง ไปยังด่านศุลกากรหนองคาย ผ่าน Dry Port ท่านาแล้ง เวียงจันทน์ สปป.ลาว ไปยังนครคุนหมิงหรือแยกไปนครกว่างโจว 3.ทางเรือผ่านท่าเรือแหลมฉบังไปยังท่าเรือชายฝั่งทะเลที่สำคัญของจีน 4. ทางอากาศผ่านทางอากาศยานสุวรรณภูมิ

การลงพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการขนส่งทุเรียนในภาคตะวันออกตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ซึ่งคาดว่าการขนส่งทุเรียนของภาคตะวันออกในฤดูกาลนี้ (มี.ค.-ก.ค.) 700,000-800,000 ตัน จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมีการตั้งเป้าหมายเพิ่มการขนส่งทุเรียนผ่านระบบรางในฤดูกาลนี้ถึงประมาณ 3,000 ตู้/เดือน ซึ่งภาครัฐและเอกชนได้มีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด อาทิ

1.สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ได้ระดมผู้ตรวจรับรองสินค้าเกษตรจากทั่วประเทศเป็นกรณีพิเศษถึง 60 นาย เพื่อให้การตรวจรับรองทุเรียนในฤดูการนี้เป็นไปด้วยความรวดเร็วโดยยังคงรักษามาตรฐานไว้ รวมถึงใช้ Seal Lock เพื่อลดขั้นตอนการตรวจปล่อยสินค้าที่ด่านชายแดน และใช้ระบบสารสนเทศให้บริการและออกใบรับรองทางอิเล็กทรอนิกส์ 2.ผู้รับขนส่งสินค้าและการรถไฟแห่งประเทศไทยได้มีความร่วมมือนำร่อง เพื่อรับรองความพร้อมของหัวจักรและขบวนขนส่งสินค้าตลอดฤดูกาลนี้จากสถานีรถไฟมาบตาพุดไปยัง Dry Port ท่านาแล้ง เวียงจันทน์

3.ภาคเอกชนและภาครัฐมีการประสานงานการเปลี่ยนถ่ายการขนส่งสินค้าที่ชายแดน โดยถอดบทเรียนจากฤดูกาลผลิตที่ผ่านมา พร้อมทั้งกรมการขนส่งทางรางร่วมกับกรมศุลกากร ลงพื้นที่ Dry Port ท่านาแล้ง เวียงจันทน์ ช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา 4.สถานการณ์การขาดแคลนตู้สินค้าลดลง และ 5.การยกเลิกมาตรการตรวจ Covid-19 ของ สปป. ลาว และจีน

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบตลาดเบื้องต้นพบว่า ผลผลิตและราคาทุเรียนของภาคตะวันออกในฤดูกาลนี้น่าจะเป็นที่พอใจ สามารถขนส่งไปยังตลาดสำคัญในประเทศจีนได้อย่างสะดวก และปลอดภัย สามารถลดต้นทุนการขนส่งสินค้า โดยมีทางเลือกรูปแบบการขนส่งทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ซึ่งทำให้สามารถกระจายผลไม้ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าไปยังต่างประเทศได้ตามความต้องการภายในระยะเวลาที่เหมาะสม

Loading

Back to top button