Transport

ผุดถนนเชื่อมพุทธมณฑลสาย 4 กับมอเตอร์เวย์ “บางใหญ่-กาญจน์” 6.5 กม.

“กรมทางหลวง” สรุปผลขยายถนนเชื่อมพุทธมณฑลสาย 4 กับมอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 6.5 กม. สร้างทางแนวใหม่ 6 เลน ปักหมุดปี 69 เปิดบริการปี 72 เชื่อมโยงโครงข่ายด้านคมนาคมขนส่งระบบล้อ-ราง-เรือ แก้รถติด ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

วันนี้ (20 เม.ย.2566) เวลา 09.00 น. นายสมเกียรติ พูลสุขเสริม รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 3) โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางหลวงแนวใหม่เชื่อมโยงถนนพุทธมณฑลสาย 4 กับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์ หมายเลข 81 ของกรมทางหลวง (ทล.) ณ ห้องประชุมกนกนภาแกรนด์ The Salaya Leisure park อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม และการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Online) ผ่านโปรแกรม Zoom Cloud Meetings เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาด้านวิศวกรรม สิ่งแวดล้อม และผลการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการประชุมได้แสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เพื่อนำมาประกอบการจัดทำรายงานสรุปผลการศึกษาโครงการให้มีความสมบูรณ์ต่อไป โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุม

สำหรับการจัดประชุมในครั้งนี้ ที่ปรึกษาโครงการฯ ได้นำเสนอสรุปผลการศึกษาโครงการ โดยมีรายละเอียด ดังนี้ แนวเส้นทางโครงการมีจุดเริ่มต้นบริเวณทางหลวงหมายเลข 3310 หรือ ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ที่เชื่อมต่อกับทางหลวงชนบทหมายเลข นฐ.4006 (แยกหอนาฬิกาศาลายา) จากนั้นแนวเส้นทางมุ่งทิศเหนือผ่านทางรถไฟสายใต้ คลองมหาสวัสดิ์ และคลองนราภิรมย์ จากนั้นแนวเส้นทางจะตัดกับทางหลวงชนบท นบ.1011 โครงการถนนต่อเชื่อมถนนนครอินทร์-ศาลายา ทางหลวงชนบท นบ.5014 คลองบางใหญ่ ทางหลวงชนบท นบ.1009 และไปสิ้นสุดที่จุดบรรจบกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี โดยรูปแบบถนนเป็นทางหลวงขนาด 6 ช่องจราจร (ไป-กลับ) รวมระยะทางประมาณ 6.5 กิโลเมตร (กม.)

ทั้งนี้แนวเส้นทางโครงการจะห่างจากตำแหน่งด่านชั่งน้ำหนักของโครงการถนนนครอินทร์-ศาลายา และเพื่อลดผลกระทบกับพื้นที่อยู่อาศัยใกล้คลองไผ่ขาด จึงขยับแนวเส้นทางถัดออกมาด้านทิศตะวันตก ทำให้แนวเส้นทางมีความปลอดภัยในการขับขี่มากที่สุด นอกจากนี้ เนื่องจากแนวเส้นทางโครงการฯ ตัดผ่านโครงการทางหลวงที่สำคัญและมีปริมาณจราจรมาก ดังนั้นการเชื่อมต่อแบบทางแยกต่างระดับ (Interchange) จะช่วยให้การจราจรคล่องตัว สะดวกและปลอดภัยต่อผู้ใช้ทาง ทั้งนี้ได้พิจารณาความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์ รวมไปถึงผลกระทบต่อประชาชน โดยมีตำแหน่งที่จะก่อสร้างเป็นทางแยกต่างระดับ 2 จุด ดังนี้

1.จุดเชื่อมกับโครงการถนนต่อเชื่อมถนนนครอินทร์-ศาลายา โดยทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด ได้แก่ รูปแบบสะพานยกระดับต่อเชื่อมแบบกึ่งตรง (Semi-directional)  สองทิศการเดินทาง คือ 1. ทิศการเดินทางจาก อ.พุทธมณฑล มุ่งไป อ.เมืองนนทบุรี และ 2. ทิศการเดินทางจาก อ.เมืองนนทบุรีมุ่งไปทางหลวงพิเศษหมายเลข 81 และเป็นรูปแบบสะพานยกระดับต่อเชื่อมแบบทางเลี้ยววน (Loop) สองทิศการเดินทาง คือ 1. ทิศการเดินทางจาก อ.นครชัยศรีไปอ.พุทธมณฑล และ 2. ทิศการเดินทางจากทางหลวงพิเศษหมายเลข 81 มุ่งไป อ.นครชัยศรี

2.รูปแบบทางแยกต่างระดับจุดเชื่อมกับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 โดยทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด ได้แก่ รูปแบบทางแยกต่างระดับรูปแตรฝรั่ง (Trumpet) โดยมีทางแยกควบคุมด้วยสัญญาณไฟจราจรบนถนนโครงการทางหลวงแนวใหม่ฯ ก่อนที่จะเข้าเชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษหมายเลข 81 มีรูปแบบสะพานยกระดับต่อเชื่อมแบบกึ่งตรง (Semi-directional) ในทิศการเดินทางจากโครงการทางหลวงแนวใหม่ฯ มุ่งไป อ.บางใหญ่ เป็นรูปแบบสะพานยกระดับต่อเชื่อมแบบทางเลี้ยววน (Loop) ในทิศการเดินทางจาก จ.กาญจนบุรีมุ่งสู่โครงการทางหลวงแนวใหม่ฯและเป็นรูปแบบสะพานยกระดับเลี้ยวซ้ายสองทิศการเดินทาง คือ 1. ในทิศการเดินทางจากโครงการทางหลวงแนวใหม่ฯ มุ่งไป จ.กาญจนบุรี และ 2. ในทิศการเดินทางจาก อ.บางใหญ่เข้าสู่โครงการทางหลวงแนวใหม่ฯ ซึ่งข้อเด่นของรูปแบบนี้ คือ ง่ายต่อการต่อขยายแนวเส้นทางในอนาคต และการจัดการจราจรบริเวณหน้าด่านจัดเก็บค่าผ่านทางได้ดีที่สุด และสามารถต่อเชื่อมทางบริการในปัจจุบันที่อยู่ข้างทางหลวงพิเศษเพื่อเข้าออกพื้นที่ได้อย่างสะดวก

นอกจากนี้ที่ปรึกษาโครงการฯ ได้เตรียมกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ครอบคลุมทั้งในระยะเตรียมการก่อสร้างและระยะก่อสร้าง อาทิเช่น กำหนดขอบเขตแนวเส่นทางโครงการให้ชัดเจน จำกัดขอบเขตพื้นที่ก่อสร้างให้น้อยที่สุด เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ใช้ทาง หรือการฉีดพรมน้ำ เพื่อควบคุมฝุ่นละอองอย่างน้อยวันละ 3 ครั้ง เพื่อควบคุมการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง เป็นต้น

ภายหลังการประชุมครั้งนี้ กรมทางหลวง โดยสำนักสำรวจและออกแบบ จะรวบรวมข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน เพื่อนำมาพิจารณาประกอบการจัดทำรายงานสรุปผลการศึกษาโครงการให้มีความสมบูรณ์ต่อไป จากนั้นใช้เวลาศึกษามาตรการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) 2 ปี ซึ่งคาดว่าโครงการฯ จะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2569 และสามารถเปิดให้ใช้บริการได้ภายในปี 2572

เมื่อแล้วเสร็จจะเชื่อมโยงโครงข่ายด้านคมนาคมขนส่งที่มีความหลากหลายทั้งระบบล้อ-ราง-เรือ เข้าด้วยกัน อันส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งทางถนนในแนวเหนือ-ใต้ด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดของโครงการฯ ได้ 2 ช่องทาง ได้แก่ 1.เว็บไซต์ www.phuttamonthonsai4-m81.com 2.แฟนเพจเฟสบุ๊ค : www.facebook.com/putthamonthonsai4m81

Loading

Back to top button