“ทางหลวงชนบท” เผย 3 มาตรการรับมือภัยแล้ง
“กรมทางหลวงชนบท” เปิดมาตรการ 3 ระยะ รับมือฤดูแล้ง เตรียมรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายประชาชน พ่วงกำชับหน่วยงานในพื้นที่ตรวจสอบถนนบริเวณคันคลองอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและให้ความช่วยเหลือทันที
กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ระบุว่า รับมือฤดูแล้ง สั่งการหน่วยงานในสังกัด ประกอบด้วย สำนักงานทางหลวงชนบท แขวงทางหลวงชนบท และหมวดบำรุงทางหลวงชนบททุกพื้นที่ เตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้ง โดยประสานข้อมูลกับจังหวัดหากพื้นที่ใดต้องการความช่วยเหลือ หน่วยงานของ ทช. พร้อมสนับสนุนรถบรรทุกน้ำและเจ้าหน้าที่ เพื่อแจกจ่ายน้ำแก่ประชาชนที่ประสบภัยทันที รวมทั้งได้กำชับให้ทุกหน่วยงานติดป้ายประชาสัมพันธ์บริเวณหน้าสำนักงานและรถบรรทุกน้ำเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบอีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานในพื้นที่ตรวจสอบคันคลอง เขื่อนป้องกันตลิ่ง ถนนที่เชื่อมต่อกับทางน้ำในพื้นที่ที่อาจจะเกิดการทรุดตัวเนื่องจากระดับน้ำลดลงต่ำกว่าปกติ และเตรียมพร้อมรับมือพื้นที่เสี่ยงต่อการทรุดตัว เพื่อความสะดวกปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน โดยแบ่งการรับมือออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
ช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ ให้ทุกหน่วยตรวจสอบพื้นที่หรือสายทางที่มีความเสี่ยงต่อการทรุดตัว โดยจัดชุดลาดตระเวนสำรวจพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการทรุดตัวและประเมินความเสียหายเบื้องต้น ในกรณีที่ความเสียหายอยู่ในระดับไม่รุนแรง ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการแก้ไขเองทันที เพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อประชาชน และติดตั้งป้ายเตือน เพื่อความปลอดภัยของประชาชนที่สัญจรไปมาบริเวณถนนเลียบคันคลองที่มีความเสี่ยง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำอาจทำให้ถนนเกิดการทรุดตัวและอาจพังทลายอย่างฉับพลัน รวมถึง ควบคุม ป้องกันรถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนดใช้เส้นทางที่มีความเสี่ยงต่อการทรุดตัว เนื่องจากรถบรรทุกน้ำหนักเกินได้สร้างความเสียหายให้แก่โครงสร้างทาง ส่งผลให้ถนน สะพานเกิดการชำรุดเสียหาย มีอายุการใช้งานสั้นกว่าที่กำหนด
ระหว่างเกิดเหตุการณ์ เมื่อถนนเลียบคันคลองชลประทานในความรับผิดชอบเกิดการทรุดตัว จะต้องรายงานสถานการณ์ให้ผู้บังคับบัญชาทราบและติดตามสถานการณ์การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จนกว่าจะดำเนินการปรับปรุงให้ประชาชนสามารถใช้เส้นทางได้อย่างสะดวกปลอดภัย พร้อมติดตั้งป้ายเตือน ติดตั้งป้ายห้ามรถบรรทุกทุกชนิดผ่าน ติดตั้งสัญญาณไฟเตือนในเวลากลางคืน ทั้งนี้ การติดตั้งป้ายเตือนจะต้องวางครอบคลุมพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย และตำแหน่งของการวางนั้น จะต้องให้ผู้ใช้เส้นทางสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน มีระยะการมองเห็นปลอดภัย และเร่งนำเครื่องจักรเข้าดำเนินการแก้ไขเบื้องต้นเร่งด่วนเพื่อควบคุมความเสียหายให้อยู่ในวงจำกัด ไม่ให้ลุกลามเป็นปัญหาใหญ่
หลังเกิดเหตุการณ์ หน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบพื้นที่ที่เกิดความเสียหายอย่างละเอียด และประเมินความเสียหาย หาวิธีการแก้ไขอย่างถูกต้อง เหมาะสมกับลักษณะความเสียหายที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นจะดำเนินการสำรวจ ออกแบบ ประมาณราคา เพื่อจัดทำแผนของบประมาณฟื้นฟู ซึ่งเมื่อได้รับการสนับสนุนงบประมาณดังกล่าวแล้ว จะดำเนินการซ่อมแซมหรือฟื้นฟูถนนที่ได้รับความเสียหายให้กลับคืนสู่สภาพเดิมหรือดีกว่าเดิม เป็นการยกระดับประสิทธิภาพในการเดินทางให้ประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป
อย่างไรก็ตาม ทช. ขอให้ท่านระมัดระวังในการเดินทางและขอความร่วมมือจากประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณคันคลองชลประทาน ช่วยกันสอดส่องดูแลถนน หากพบว่ามีการแตกร้าวตามไหล่ทาง ซึ่งมีความเสี่ยงที่ถนนอาจจะทรุดตัวได้ สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วน 1146 หรือแขวงทางหลวงชนบทในพื้นที่ เพื่อทาง ทช.จะได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนต่อไป